กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 65!!

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 65!!

จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ออกพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ให้เลื่อนไปมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 กฎหมายดังกล่าวจะมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลที่จะทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตัวอย่างเช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เชื้อชาติ ลายนิ้วมือ เลขที่บัญชีธนาคาร ข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของบุคคลซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว และมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมว่าแม้ข้อมูลบางอย่างที่มีโดยลำพังจะไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวคือไม่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้ แต่เมื่อนำไปรวมกับมูลอื่นแล้วทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ก็จะกลายเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น บ้านเลขที่ เมื่ออยู่โดยลำพังประกอบกับมีผู้อาศัยอยู่หลายคน จะไม่สามารถระบุตัวบุคคคลได้ แต่เมื่อนำไปประกอบกับข้อมูลอื่น ไม่ว่าจะเป็น วันเดือนปีเกิด หรือเพศ หากทำให้สามารถระบุตัวบุคคลได้ ข้อมูลต่างๆเหล่านั้นก็จะกลายเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้นั้น

มีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมว่า ข้อมูลส่วนบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองนั้น หมายถึงข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงข้อมูลของนิติบุคคล แต่ต้องพึงระวังด้วยว่าแม้จะเป็นข้อมูลของนิติบุคคลแต่ถ้ามีข้อมูลของบุคคลธรรมดาอยู่ด้วย เช่น หนังสือรับรองนิติบุคคลที่มีชื่อของบุคคลธรรมดาอยู่ เมื่อสามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ ก็จะกลายเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอันจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
จากการมีผลบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะทำให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ป้องกันการถูกขโมยตัวตนได้ และหากเกิดการละเมิด เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก็จะได้รับการเยียวยา นอกจากนี้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลยังมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการแก้ไข ขอระงับการใช้ข้อมูล สิทธิในการที่จะได้รับแจ้ง สิทธิในการขอคัดค้านการเก็บรวบรวมใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

สาระสำคัญของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ เจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ผู้เก็บรวบรวม ผู้ใช้ แจ้งไว้ตั้งแต่แรกแล้วเท่านั้น ผู้เก็บรวบรวมหรือผู้ใช้ข้อมูลจึงจะมีสิทธิเก็บรวบรวม ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลนั้นได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้ควบคุมข้อมูลมีสิทธิเก็บรวบรวม ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ แม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

ดังนั้นแล้ว ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจต่างๆก็จะต้องมีการวางแผนนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้รัดกุม โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ หากฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และโทษทางปกครอง อันจะส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจ
ส่วนในด้านของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ควรจะต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนจะให้ความยินยอม หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลก็สามารถปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลนั้นได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองข้อมูลของตนเองไว้อีกชั้นหนึ่ง
ท่านใดที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ที่
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp