
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าบริษัทต่างๆ ในการที่จะจ่ายเงินเป็นเช็คในกิจการค้าขายนั้นจะต้องเปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคาร และในการเปิดบัญชีจะต้องให้ตัวอย่างลายมือชื่อของผู้มีอำนาจในการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คและต้องมีการตกลงกับธนาคารว่ากรรมการคนใดเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในเช็ค ซึ่งในอดีตถ้าบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวเป็นของบริษัทการลงลายมือชื่อของกรรมการจะต้องประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย แต่ในปัจจุบันในการเปิดบัญชีกระแสรายวันธนาคารไม่ให้ประทับตราสำคัญของบริษัทในเช็คคงแต่ให้ลงลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อเท่านั้นก็เป็นอันสมบูรณ์ การไม่ประทับตราของบริษัทก็เกิดปัญหาว่าการที่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในเช็คโดยไม่ประทับตราของบริษัทนั้น เป็นการลงลายมือชื่อในฐานนะส่วนตัว หรือกระทำการแทนบริษัท เกี่ยวกับการประทับตราหรือไม่ประทับตราของบริษัทนั้นในความรับผิดตามกฎหมายแตกต่างกันว่าจะเป็นการรับผิดเป็นการส่วนตัวหรือเป็นเพียงกระทำการแทนบริษัท ดังนั้นเมื่อท่านใดได้รับเช็คมาแล้ว # ถือว่าโชคดีแล้วครับอย่างน้อยได้มีเช็คอยู่ในมือไว้แล้วส่วนจะขึ้นเงินได้หรือไม่ได้นั้น ค่อยว่ากันอีกที # ให้สังเกตุว่าเจ้าของเช็คเป็นบริษัทหรือเป็นบุคคลธรรมดา โดยหากเป็นเช็คบริษัทในมุมซ้ายบนของเช็ค จะมีชื่อบริษัท แต่หากเป็นเช็คของบุคคลธรรมดา มุมซ้ายบนโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ระบุชื่อแต่บางธนาคารก็จะระบุเป็นชื่อเจ้าของเช็ค ฉะนั้น กรณีที่มุมซ้ายบนของเช็คเป็นชื่อบริษัทแม้กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยไม่ประทับตราของบริษัทก็ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อในฐานนะกรรมการผู้มีอำนาจ กระทำการแทนบริษัท กรรมการไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ผู้ที่มีเช็คไว้ในความครอบครองหรือเจ้าของเช็คซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่าผู้ทรงก็ฟ้องได้เฉพาะบริษัทให้รับผิดไม่มีสิทธิฟ้องกรรมการให้รับผิดในฐานะส่วนตัว ในทางกลับกันถ้าเป็นเช็คของบุคคลธรรมดา และเจ้าของเช็คได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายไว้เป็นสำคัญหรือแม้กระทั่งนำตราประทับของบริษัทมาประทับด้วยโดยไม่ถูกต้องในทำนองเดียวกันก็ไม่สามารถฟ้องให้บริษัทรับผิดได้ คงฟ้องได้แต่ผู้ลงลายมือชื่อในเช็คเป็นการส่วนตัวเท่านั้น ในเรื่องนี้มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ตัดสินไว้เป็นแนวบรรทัดฐานว่า “การที่กรรมการลงลายมือชื่อในเช็คของบริษัทโดยไม่ประทับตราของบริษัท ผู้รับเช็คหรือผู้ทรงตามกฎหมายก็จะฟ้องได้แต่เฉพาะบริษัทให้รับผิดเท่านั้น ไม่อาจฟ้องให้กรรมการผู้มีอำนาจรับผิดเป็นการส่วนตัวได้”
มีกฎหมายและคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2564 จำเลยที่ 1 (บริษัทจำกัด) ตกลงออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้ในวันเดียวกัน ประกอบกับเช็คพิพาทก็ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ด้านบนซ้ายอันแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จำทำให้โจทก์เข้าใจไปได้ว่า การที่จำเลยที่ 3 ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คนั้น เป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว แม้ในเช็คดังกล่าวจะไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับไว้ แต่กรณีก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น อันเป็นการออกเช็คในนามจำเลยที่ 1 โดยไม่จำเป็นต้องระบุหรือเขียนแถลงว่าเป็นการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 901 อีก เพราะเป็นที่ชัดเจนอยู่ในตัวเช็คนั้นแล้วว่าจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อโดยเป็นผู้กระทำการแทน เมื่อต่อมาเช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดตามเช็คนั้นต่อโจทก์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 901 ถ้าบุคคลคนใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น