
กล่องสุ่ม หรือ Mystery box เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแบบหนึ่ง ที่ช่วยดึงดูดลูกค้า ทำให้ร้านค้าเป็นที่รู้จัก และช่วยกระตุ้นยอดขายได้ โดยพ่อค้าแม่ค้าจะนำเอาสินค้าในร้านนำมาจัดเป็นเซ็ทหรือเป็นชุด แล้วบรรจุลงในกล่อง แล้วนำกล่องนั้นออกวางขาย ซึ่งลูกค้าจะไม่รู้ว่าภายในกล่องที่ซื้อไปนั้นมีสินค้าอะไรอยู่บ้าง
ผู้ที่ซื้อกล่องสุ่มก็จะได้สินค้า และฝ่ายผู้ขายก็จะได้เงินค่าขายสินค้า เพียงแต่ผู้ซื้อไม่ทราบในขณะซื้อขายว่าสินค้าที่ตนเองได้นั้นคืออะไรหรือแบบใดแสดงว่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างก็มีแต่ได้ จึงไม่เข้าลักษณะการพนัน ส่วนสินค้าที่ได้จะมีคุณภาพหรือไม่ ครบตามจำนวนหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในเรื่องของกฎหมายว่าด้วยการซื้อขาย หรือ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ต่อไป
ส่วนความหมายของการพนัน ศาลฎีกาได้วางหลักการกระทำที่จะเป็นการพนันเอาไว้ ดังนี้
1.ต้องมีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง
2.การเสี่ยงโชคนั้นต้องอาศัยฝีมือ (พนัน) หรือ การทำนาย (ขันต่อ)
3.เหตุการณ์ที่นำมาเสี่ยงกันนั้นต้องมีลักษณะไม่แน่นอน
4..ผลสิ้นสุดของเหตุการณ์จะต้องมีฝ่ายหนึ่งได้ มีฝ่ายหนึ่งเสีย
ถ้าไม่เข้าลักษณะดังที่ว่ามาใน 4 ข้อนี้ ก็ไม่ใช่การพนัน หรือขันต่อ (เทียบ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5229/2544) ยกตัวอย่างเช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ถือเอาตัวเลขเป็นตัวตัดสินว่าจะได้หรือจะเสีย ซึ่งการออกตัวเลขนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอน อาศัยการเสี่ยงโชค เมื่อเหตุการณ์การออกตัวเลขสิ้นสุด ก็จะมีคนได้ และมีคนเสีย โดยคนที่ได้อาจจะเป็นคนซื้อสลาก หรืออาจจะเป็นรัฐบาลก็ได้ กรณีนี้จึงเรียกว่า เป็นการพนันหรือขันต่อแต่เนื่องจากการพนัน ประเภทสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ทางรัฐอนุญาตให้เล่นกันได้ จึงไม่ผิดกฎหมาย (ที่จะผิดกฎหมาย คือ สลากกินรวบหรือหวยใต้ดิน) ดังนั้น เห็นว่า กล่องสุ่มไม่เข้าลักษณะการพนันหรือขันต่อแต่เป็นเรื่องของกฎหมายว่าด้วยการซื้อขาย และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และหากมีการอาศัยกล่องสุ่มไปหลอกลวง ก็เป็นเรื่องฉ้อโกงผิดกฎหมายอาญาได้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 อันการพนันหรือขันต่อนั้น ท่านว่าหาก่อให้เกิดหนี้ไม่ สิ่งที่ได้ให้กันไปในการพนันหรือขันต่อก็จะทวงคืนไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดมิได้
ข้อบัญญัติที่กล่าวนี้ ท่านให้ใช้ตลอดถึงข้อตกลงเป็นมูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดอันฝ่ายข้างเสียพนันขันต่อหากทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจะใช้หนี้เงินพนันหรือขันต่อนั้นด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 5229/2544 พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และประกาศข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความดังเช่น พระราชบัญญัติทนายความสองฉบับแรก (ที่ยกเลิก) ฉะนั้น สัญญาจ้างว่าความที่พิพาทที่ระบุว่า “คิดค่าทนายความร้อยละ 20 ของยอดทุนทรัพย์ 17,188,356 บาท โดยชำระค่าทนายความเมื่อบังคับคดีได้ กรณีบังคับคดีได้เพียงบางส่วนก็คิดค่าทนายความบางส่วนที่บังคับคดีได้ และถ้าคดีมีการยอมความกันคิดค่าทนายความร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ยอมความ” จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความระหว่างโจทก์จำเลย หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาจ้างว่าความที่พิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ
สัญญาจ้างว่าความที่พิพาทไม่มีข้อใดที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคและไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน เป็นข้อแพ้ชนะกันระหว่างโจทก์จำเลย แต่เป็นสัญญาจ้างทำของที่โจทก์ต้องลงแรงว่าต่างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกความ จึงหาใช่เป็นการพนันขันต่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 ไม่ เมื่อโจทก์เป็นทนายความฟ้อง ร. และ ค. แล้วมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมา ร. และ ค. ผิดสัญญา โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ดำเนินการบังคับคดี ซึ่ง ร. และ ค. ได้นำเงินมาวางชำระที่ศาลแล้ว ดังนี้ โจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยได้ดำเนินการบังคับคดีแล้ว ซึ่งต่อมา ร. และ ค. ได้วางเงินชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกจำเลยฟ้องคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้โดยการว่าจ้างทนายความคนอื่นหรือเพราะการบังคับคดี ยึดทรัพย์ก็ตาม ถือว่ามีการบังคับคดีและจำเลยได้รับชำระหนี้แล้วโจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลย