การขอออกหมายจับมีหลักเกณฑ์อย่างไร ?

การขอออกหมายจับมีหลักเกณฑ์อย่างไร
จากที่ปรากฏเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าในคดีหนึ่งตำรวจขอออกหมายจับล่าช้า ในขณะที่บางคดีก็ออกหมายจับได้ทันทีที่รับแจ้งความ ทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยว่าตำรวจใช้ดุลพินิจในการขอออกหมายจับได้หรือไม่ มีหลักเกณฑ์อย่างไร

ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
หมายจับ
เป็นหมายอาญาชนิดหนึ่งที่กระทบสิทธิในชีวิต ร่างกาย และเนื้อตัวของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองไว้ เพื่อไม่ให้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกล่วงเกิน การออกหมายจับจึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์แห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังต่อไปนี้

ศาลเท่านั้นที่จะมีอำนาจออกหมายจับ โดยศาลอาจเห็นตามสมควรเองหรือโดยมีผู้ร้องขอให้ออกหมายจับก็ได้ ในกรณีที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับเป็นเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือเจ้าพนักงานอื่น ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามขึ้นไป ส่วนตำรวจจะต้องมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป ประกอบกับต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนหรือสอบสวนคดีที่ร้องขอออกหมายจับด้วย เหตุในการออกหมายจับมีดังต่อไปนี้

1. เมื่อปรากฏหลักฐานตามสมควรว่ามีบุคคลน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ความผิดฐานชิงทรัพย์ เนื่องจากโดยสภาพของความผิดนั้นร้ายแรง แม้ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ก็เป็นเหตุในการออกหมายจับได้ แต่อย่างไรก็ต้องมีหลักฐานตามสมควรด้วยว่าผู้จะถูกออกหมายจับได้กระทำผิดในฐานนั้น
2. มีเหตุตามสมควรว่าผู้จะถูกออกหมายจับ น่าจะได้กระทำความผิดอาญาแม้อัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปีก็ตาม แต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น เช่น มีบ้านอยู่ในต่างประเทศ การจะออกนอกประเทศไม่เป็นการยาก หรือ ผู้จะถูกเป็นบุคคลที่มีอำนาจทางสังคมการจะไปทำลายพยานหลักฐานก็สามารถทำได้โดยง่าย กรณีเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้ออกหมายจับได้
3. ในกรณีที่ผู้จะถูกจับไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัด โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร เช่น เป็นคนเร่ร่อน คนจรจัดซึ่งไม่มีที่อยู่แน่นอน ให้สันนิษฐานว่าผู้นั้นจะหลบหนี เมื่อต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจะหลบหนีจึงเป็นเหตุในการออกหมายจับได้

ดังนั้น ในการร้องขอให้ออกหมายจับ ผู้ร้องขอต้องเสนอพยานหลักฐานตามสมควรว่า ผู้จะถูกจับน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญาแม้อัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปีก็ตาม แต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือในกรณีที่ผู้จะถูกจับไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัด โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าผู้นั้นจะหลบหนี

เช่นนี้ แม้ว่ากฎหมายจะให้อำนาจศาลในการออกหมายจับหรือให้อำนาจผู้ร้องขอให้ออกหมายจับได้ แต่หากไม่ปรากฏหลักฐานตามสมควรดังที่กฎหมายบัญญัติ ศาลก็จะไม่ออกหมายจับให้ เนื่องจากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการออกหมายจับเป็นการกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้ จึงต้องออกหมายจับภายใต้หลักเกณฑ์แห่งกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ว่าจะออกหมายจับตามอำเภอใจ

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 59 วรรคแรก ศาลจะออกคำสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้ วรรคสอง ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป

มาตรา 66 เหตุที่จะออก หมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใด น่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก อย่างสูง เกินสามปี หรือ
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใด น่าจะได้กระทำความผิดอาญา และ มีเหตุอันควรเชื่อว่า จะหลบหนี หรือ จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ก่อเหตุอันตรายประการอื่น ถ้า บุคคลนั้น ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือ ไม่มาตามหมายเรียก หรือ ตามนัด โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่า บุคคลนั้น จะหลบหนี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2562 การจับกุมโจทก์ทั้งสี่มีมูลเหตุมาจากการที่ ช. แจ้งเรื่องไปที่ศูนย์วิทยุสื่อสาร สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ว่าโจทก์ที่ 2 อ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจพูดจาเชิงข่มขู่ให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ต จำเลยที่ 13 จึงไปร้านที่เกิดเหตุตามคำสั่งของจำเลยที่ 7 ช. ยืนยันข้อเท็จจริงตามที่แจ้ง จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก จึงติดตามจนพบรถกระบะที่โจทก์ทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะ ขอตรวจค้นพบบัตรคอนเสิร์ต 5 ใบ กับเงินสด 7,000 บาท ในกระเป๋าสะพายของโจทก์ที่ 1 กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวกเชื่อโดยสุจริตว่ามีเหตุการณ์ดังที่ ช. แจ้งเกิดขึ้นจริง จึงมีหลักฐานตามสมควรว่าโจทก์ทั้งสี่น่าจะได้กระทำความผิดอาญา ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน เจ้าพนักงานตำรวจไม่ทราบว่าโจทก์ทั้งสี่พักอาศัยอยู่ที่ใด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่จะหลบหนี และหากต้องไปขอให้ศาลออกหมายจับก่อน อาจจะไม่ได้ตัวโจทก์ทั้งสี่มาดำเนินคดี ถือได้ว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับ การจับกุมโจทก์ทั้งสี่จึงต้องด้วยข้อยกเว้นของการจับโดยไม่มีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ประกอบมาตรา 66 (2) จึงเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2555 การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp