การรอลงอาญาซ้ำ เกิดขึ้นได้หรือไม่

การรอลงอาญา หรือในทางกฎหมาย เรียกว่า การรอการลงโทษ หมายถึง การที่ศาลพิจารณาพิพากษาตัดสินแล้วว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่มีเหตุที่ศาลเห็นว่าการปล่อยตัวจำเลยไปจะเป็นประโยชน์มากกว่าการลงโทษจำคุก โดยตามประมวลกฎหมายอาญา มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. ผู้ที่กระทำความผิดในความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และศาลลงโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี

2. มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ผู้กระทำความผิดไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
  • เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ
  • เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่า 5 ปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดครั้งหลังเป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

3. ศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว

เมื่อครบองค์ประกอบทั้งสามข้อข้างต้น ศาลสามารถพิพากษาให้ผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ได้ มีข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจว่า หากศาลเคยพิพากษาให้จำคุกแล้วสั่งรอการลงโทษไว้ ต่อมาภายหลังได้มากระทำความผิดอีก ศาลในคดีหลังจะสั่งให้รอการลงโทษได้อีกหรือไม่

ประเด็นดังกล่าว ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 36/2542 ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จําคุกแต่ให้รอการลงโทษไว้น้ัน มาตรา 56 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญาให้ปล่อยตัวจําเลยไป จําเลยไม่ต้องถูกจําคุก การจําคุกตามคําพิพากษา คือการนําตัวจําเลยไปควบคุมไว้ในเรือนจํา เพราะมาตรา 74 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 73 และมาตรา 185 วรรคสอง เมื่อผู้ใดต้องคําพิพากษาใหจําคุก หรือประหาร ชีวิต หรือจะต้องจําคุกแทนค่าปรับ ให้ศาลออกหมายจําคุกผู้นั้นไว้” ซึ่งหมายความว่า การที่บุคคลใดต้องคําพิพากษาให้จําคุก บุคคลน้ันต้องถูกจําคุกจริง ศาลจึงต้องออกหมายจําคุก ดังนั้นจําเลยที่ถูกศาลพิพากษาให้จําคุกแต่โทษจําคุกให้รอการลงโทษได้รับการปล่อยตัวในคดีนั้นทันที จึงต้องถือว่าการรอการลงโทษนั้น จําเลย มิได้ถูกจําคุก

ประกอบกับมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2497 วินิจฉัยว่า คำว่า ไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หมายความว่า ต้องได้รับโทษจำคุกจริงๆ ถ้าในคดีก่อนศาลลงโทษจำคุกแต่โทษจำคุกรอไว้ ไม่ถือว่าได้รับโทษจำคุกจริงๆ ศาลในคดีหลังรอซ้ำได้ เพราะไม่อยู่ในเงื่อนไขข้อห้าม

ดังนั้น การรอลงอาญาซ้ำจึงเกิดขึ้นได้ เพราะการที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกแต่รอการลงโทษเอาไว้ในคดีก่อน มีผลเท่ากับจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุก ศาลจึงอาจสั่งให้รอการกำหนดโทษไว้ในอีกคดีได้ อย่างไรศาลก็จะพิจารณาไปถึงประวัติ สภาพแวดล้อม และสภาพความผิดของบุคคลนั้น ๆ ว่าสมควรจะรอการลงโทษไว้หรือไม่ด้วย

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 56 วรรคแรก ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น

(1) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ

(2) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ

(3) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

วรรคสอง และเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 36/2542
ในส่วนการวินิจฉัยประเด็นเรื่องผู้เคยรับโทษจำคุก ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จําคุกแต่ให้รอการลงโทษไว้น้ัน มาตรา 56 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญาให้ปล่อยตัวจําเลยไป จําเลยไม่ต้องถูกจําคุก การจําคุกตามคําพิพากษา คือการนําตัวจําเลยไปควบคุมไว้ในเรือนจํา เพราะมาตรา 74 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 73 และมาตรา 185 วรรคสอง เมื่อผู้ใดต้องคําพิพากษาใหจําคุก หรือประหาร ชีวิต หรือจะต้องจําคุกแทนค่าปรับ ให้ศาลออกหมายจําคุกผู้นั้นไว้” ซึ่งหมายความว่า การที่บุคคลใดต้องคําพิพากษาให้จําคุก บุคคลน้ันต้องถูกจําคุกจริง ศาลจึงต้องออกหมายจําคุก ดังนั้นจําเลยที่ถูกศาลพิพากษาให้จําคุกแต่โทษจําคุกให้รอการลงโทษได้รับการปล่อยตัวในคดีนั้นทันที จึงต้องถือว่าการรอการลงโทษนั้น จําเลย มิได้ถูกจําคุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2497
จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก แต่ศาลให้รอการลงโทษไว้ แล้วกลับมากระทำผิดอีกภายในกำหนดเวลา ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยอีกได้

คำว่า “ได้รับโทษจำคุกมาก่อน” ใน มาตรา 41 ที่แก้ไขใหม่หมายความว่า จำเลยต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้ว หาใช่เพียงแต่ถูกคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลให้รอการลงโทษจำคุกนั้นไว้ไม่

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp