
ในปัจจุบันมีมิจฉาชีพเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ที่เห็นกันอยู่บ่อยๆก็คือ การไปว่าจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชีธนาคาร หรือ บัญชีม้า โดยจะมีการให้ค่าตอบแทนในการเปิดบัญชี และกลุ่มมิจฉาชีพก็จะนำสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็มของผู้รับจ้างเปิดบัญชีเก็บเอาไว้ เพื่อนำไปใช้ในการหมุนเวียนเงินที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น การซื้อขายยาเสพติด การพนัน และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งมิจฉาชีพก็จะใช้บัญชีธนาคารนั้นรับโอนเงินจากเหยื่อที่ถูกหลอกลวง เพื่อปกปิดตัวตนของตนเอง ไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวมาดำเนินคดีได้โดยง่าย จากกรณีดังกล่าวจึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หากผู้ว่าจ้างได้นำบัญชีธนาคารไปใช้หลอกลวงผู้อื่นอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แล้วผู้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร จะมีความผิดฐานใดหรือไม่
ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
ความผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมายอาญา มาตรา 341 คือ การที่ผู้กระทำมีเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำก็จะมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นผลให้ต้องรับโทษหนักขึ้น คือ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สนับสนุน คือ การกระทำด้วยประการใดๆก่อน หรือ ขณะกระทำความผิด อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด โดยมีเจตนาที่จะช่วย หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำผิด จะเป็นเจตนาประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผลก็ได้ ไม่สนใจว่าผู้ลงมือจะรู้หรือไม่รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก ขอเพียงแค่ผู้ลงมือได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือนั้น ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ซึ่งผู้สนับสนุนการกระทำความผิดต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
ส่วนตัวการ เกิดขึ้นในกรณีที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ได้มีเจตนาร่วมกันในขณะกระทำความผิดและได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน กล่าวคือ มีการกระทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะการที่แต่ละคนการแบ่งหน้าที่กันทำ หรือการร่วมหรืออยู่ใกล้เคียงกันในที่เกิดเหตุ ในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ลงมือได้ทันที หรืออาจจะเป็นกรณีที่แต่ละคนร่วมกระทำส่วนหนึ่งของการกระทำทั้งหมดที่รวมกันเป็นความผิดขึ้น โดยผลของการเป็นตัวการทำให้ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ว่าจ้างได้นำบัญชีธนาคารไปใช้หลอกลวงผู้อื่น ก็จะมีความผิดฐานฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชนแล้วแต่กรณี ส่วนผู้รับจ้างเปิดบัญชีนั้นแม้จะอ้างว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด แต่ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาแล้วว่า การได้รับเงินค่าจ้างเพื่อมาเปิดนั้น ย่อมเล็งเห็นผลว่าผู้รับซื้อจะนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย จะอ้างว่าถูกหลอกไม่ได้ การกระทำจึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดนั้น นอกจากนี้ก็ยังอาจมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามกฎหมายอื่นๆอีกได้แล้วแต่ลักษณะของการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น เช่น การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การพนัน เป็นต้น ทั้งยังอาจเข้าข่ายมีความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามหากปรากฏว่าผู้รับจ้างเปิดบัญชีถึงขั้นมีเจตนาร่วมกันในขณะกระทำความผิดและได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ว่าจ้างเปิดบัญชี ก็เสี่ยงที่จะต้องรับผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดที่ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 343 วรรคหนึ่ง ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
มาตรา 5 ผู้ใด
(1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทําความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ
(2) กระทําด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออําพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจําหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด
(3)ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด
ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฟอกเงิน
มาตรา 60 ผู้ใดกระทําความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2563 ตัดสินลงโทษประชาชนที่รับจ้างเปิดบัญชี แม้จะอ้างในชั้นสอบสวนและศาลว่า ไม่ได้รู้เห็นการกระทำความผิด แต่ศาลเห็นว่า การเปิดบัญชีธนาคารนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรนำบัญชี บัตร ATM หรือรหัส มอบให้กับผู้อื่น การได้รับเงินค่าจ้างเพื่อมาเปิดนั้น ย่อมเล็งเห็นผลว่าผู้รับซื้อจะนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย จะอ้างว่าถูกหลอกไม่ได้ การกระทำจึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และเป็นผู้สนับสนุนการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเบิกถอนเงินสดของผู้อื่นโดยมิชอบ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด โดยต้องโทษ 2 ใน 3 ของโทษทั้งหมด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2561 การที่จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝาก ป. รวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 4,173,000 บาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ป. เพื่อนำไปให้ ต. ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้ ศ. กับพวก ถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (2), 60