การเป็นตัวแทนโจทก์ในการฟ้องคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2563

นาย ส. ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นตัวแทนโจทก์ มิได้ฟ้องเป็นการส่วนตัวในฐานะที่นาย ส.เป็นเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ จึงต้องพิจารณาอำนาจฟ้องของโจทก์ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 และข้อบังคับของโจทก์ซึ่งตามข้อบังคับของโจทก์กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นตัวแทนของโจทก์ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ และตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ ให้มีอำนาจทำนิติกรรมกับบุคคลอื่น และดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ ใช้สิทธิเรียกร้องหรือดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา ประนีประนอมยอมความทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่ทำการละเมิดต่ออาคารชุดหรือทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด รวมทั้งดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย ข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 35 และมาตรา 36 (3) ที่บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งและให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนนิติบุคคลอาคารชุด ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการโจทก์หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ไม่


นาย ส. เป็นเพียงเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ มิได้เป็นผู้จัดการโจทก์ รวมทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับของโจทก์ให้เจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ หากนาย ส. เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างให้แก่จำเลยที่ 4 โดยมิชอบ นาย ส. ต้องแจ้งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ การที่นาย ส. เคยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการแจ้งเรื่องให้โจทก์ดำเนินการแล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของโจทก์ ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว


ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับใช้ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีเช่นนี้ จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 โดยนาย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการต้องร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตัวเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อฟ้องร้องตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 แต่นายส. มิได้ดำเนินการร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองเป็นผู้แทนโจทก์เฉพาะการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ประกอบมาตรา 75 แต่นาย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์เสียเอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้คำพิพากษามีผลถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาและไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 ประกอบมาตรา 252

พ.ต.ท.ธีรพงศ์. ส.

ผู้เขียน

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp