
ปัจจุบันบ้านเมืองมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสภาพจากสมัยเก่ามากมีการสร้างตึกสูงชันขึ้นมากมายในเมืองใหญ่ๆ เช่นในกรุงเทพมหานคร มีการสร้างตึกสูงเกือบทุกพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และแม้จะก่อสร้างในที่ดินของตนเอง และออกแบบถูกต้องผ่านขั้นตอนตามกฎหมายเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่เจ้าของอาคารก็พึงควรระวังไม่ทำให้เพื่อนบ้านข้างเคียงเดือดร้อนรำคาญด้วยและอาจจะเป็นละเมิดขึ้นได้ การกระทำดังกล่าวแม้เป็นการทำในที่ดินของตนเองแต่ทำให้ผู้อื่นที่มีที่ดินติดต่อกันได้รับความเสียหายก็เป็นการทำละเมิดได้ นั่นก็คือการใช้สิทธิเกินส่วนนั่นเอง ซึ่งหมายถึง แม้บุคคลใดจะกระทำตามสิทธิที่ตนมี แต่ก็ต้องไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่นเกินสมควร เจ้าของบ้านที่ปลูกบ้านติดกับที่ดินข้างเคียงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำพิพากษาฎีกาดังนี้
ประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา มาตรา 1336 ป.พ.พ. บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 ป.พ.พ. บัญญัติว่า บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน
มาตรา 420 ป.พ.พ. บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งของใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 421 ป.พ.พ. บัญญัติว่า การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 3772/2557 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าของรวมที่ดินโฉนดเลขที่ 219977 พร้อมบ้านพักอาศัยเลขที่ 99/2 โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 219976 พร้อมบ้านพักอาศัยเลขที่ 99/3 โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 219975 พร้อมบ้านพักอาศัยเลขที่ 99/4 โจทก์ที่ 4 เป็นภริยาของโจทก์ที่ 3 และประกอบกิจการรับเลี้ยงเด็กอยู่บ้านเลขที่ 99/3 เมื่อประมาณปี 2550 จำเลยที่ 1 สร้างอาคารชุดแอทซิตี้ สุขุมวิท รวม 5 หลัง โดยติดตั้งกระจกรอบตัวอาคารและมีด้านข้างอาคาร 3 หลังขนานไปกับหน้าบ้านของโจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 3 จำเลยที่ 1 สร้างอาคารชุดแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2552 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการดูแลทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด แต่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน ของปี ในช่วงตะวันอ้อมข้าว ระหว่างเวลา 15.30 ถึง 18.00 นาฬิกาของทุกวัน แสงแดดซึ่งกระทบกับกระจกอาคารของจำเลยที่ 1 จะสะท้านสาดส่องเข้าไปในบ้านของโจทก์ทั้งสาม ทำให้เกิดแสงสว่างและอุณหภูมิในบ้านสูงขึ้นมากจนไม่สามารถพักอาศัยได้อย่างปกติสุขทำให้โจทก์ทั้งสี่และบริวารรวม 8 คนได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่จึงขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน……….จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 4 ไม่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน ซึ่งศาลฎีกา เห็นว่า “กรณีบุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินที่ควรคาดคิดหรือคาดหมายได้ แม้สิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังได้ความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ป.พ.พ. มาตรา 1337 บัญญัติให้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่การที่โจทก์ที่ 4 อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 99/4 และได้รับผลกระทบจากแสงสว่างที่สะท้อนจากอาคารของจำเลยที่ 1 สาดส่องเข้าไปในบ้านด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ที่ 4 จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการใช้สิทธิปฏิบัติการเพื่อยังให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปตามมาตรา 1337