คดีผู้กำกับ “โจ้” เกี่ยวข้องกับกฎหมายใดบ้าง ?

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจในการดำเนินคดีอาญาในระบบกฎหมายไทย จะเป็นระบบ “ กล่าวหา ” โดยสรุปเข้าใจง่ายๆ ก็คือผิดหรือถูก กล่าวหาไว้ก่อน และให้ผู้ต้องหา หรือจำเลยไปแก้ต่างหรือสู้คดีในศาลเอา หากสู้คดีชนะก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หากแพ้คดีก็เป็นผู้กระทำความผิดต้องรับโทษตามกฎมาย


ในส่วนคดีอาญา การนำคดีเข้าสู่ศาลทำได้ ๒ วิธี คือ
๑.ผู้เสียหายว่าจ้างทนายนำคดีไปฟ้องต่อศาลเอง
๒.มีการแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้พนักงานาสอบสวนเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานในการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา
ซึ่งในกรณีนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการนำคดีเข้าสู้ศาลในวิธีที่ ๒ ในกรณีมีการแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน โดยจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน หากเห็นว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ก็จะมีความเห็นควรสั่งฟ้องและส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการ และหากพนักงานอัยการเห็นด้วยกับการสั่งฟ้องของพนักงานสอบสวน ก็จะนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องศาลในขั้นตอนการสอบสวนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องอยู่ ๒ ชุดคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ “ ฝ่ายสืบสวน” และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เรียกว่า “พนักงานสอบสวน”เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน นอกจากมีหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานซึ่งตำรวจฝ่ายสืบสวนได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเพื่อจะทราบรายละเอียดแห่งความผิดแล้ว ยังมีหน้าที่ในการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องหาด้วยส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสอบสวนหน้าที่หลักคือ การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวน จะเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาจากหลักการสืบสวนสอบสวนข้างต้นจะเห็นได้ว่าตามที่เป็นข่าวนั้นจะอยู่ในขั้นตอนของ “ชุดสืบสวน” ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อจะทราบข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา ซึ่งโดยหลักเมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว ตำรวจชุดสืบสวนจะต้องนำตัวผู้ต้องหาส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดพนักงานสอบสวนโดยทันที


ข้อสังเกตุ ตามหลักกฎหมายใช้คำว่า “ต้องส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับโดยทันที” ซึ่งการที่กฎหมายเขียนไว้เช่นนี้ก็เพื่อป้องกันการที่นำตัวผู้ต้องหาไปกระทำการอย่างอื่นที่อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักประกันให้กับผู้ต้องหา ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า “ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์”
ฉะนั้นตามที่เป็นข่าวในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาได้แล้วไปกระทำการอย่างอื่นโดยไม่ส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดพนักงานสอบสวนโดยทันที ก็น่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนตามที่เป็นข่าว มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกระทำอยู่หลายมาตรา แต่ทั้งนี้เรายังไม่ฟันธงว่าเป็นความผิดตามมาตราใด เพราะเราไม่มีหน้าที่และไม่ได้เกี่ยวข้องในฐานะทนายความในคดีดังกล่าว แต่ขอวิเคราะห์ตามที่เป็นข่าว ดังนี้
๑.การที่จับผู้ต้องหาได้แล้วแต่ไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดพนักงานสอบสวนโดยทันที ในข้อนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗
๒.การใช้ถุงพลาสติกที่ไม่มีช่องระบายอากาศถึง ๖ ชั้นคลุมศีรษะผู้ต้องหาและถึงแก่ความตายมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
๒.๑ กรณีไม่มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๐ หรือ
๒.๒ กรณีมีเจตนาฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผล ว่าการใช้ถุงพลาสติกที่ไม่มีช่องระบายอากาศคลุมศีรษะและมัดปากถุงเพื่อไม่ให้อากาศเข้าไปจะทำให้ผู้ต้องหาขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ ซึ่งในกรณีนี้นอกจากจะเป็นการฆ่าคนตายโดยเจตนาแล้วอาจจะเป็นการฆ่าโดยการทรมานหรือกระทำการทารุณโหดร้าย ตามประมาลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๒๘๙(๕)
๒.๓ ถ้าปรากฎข้อเท็จจริงว่า ถึงแก่ความตายโดยขาดอากาศหายใจจากการใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะแล้วมีการนำศพไปแจ้งกับหมอว่าตายด้วยเหตุอื่น ในส่วนนี้จะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องฐานเคลื่อนย้ายศพเพื่ออำพรางคดีหรือปิดบังเหตุแห่งการตาย หรือเป็นการเคลื่อนย้ายศพโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๙๙ และ มาตรา ๓๖๖/๓
๒.๔ ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงตามที่เป็นข่าวว่าการกระทำเป็นการเรียกเงินสองล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาที่กระทำความผิด ในส่วนนี้จะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๙
ข้อกฎหมายข้างต้นเป็นการวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริงตามที่เป็นข่าว โดยยังไม่ได้ยืนยันว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายมาตราใด
แต่อย่างไรก็ดีในกรณีข้อเท็จจริงคล้ายๆ เรื่องนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้แล้วดังนี้


ฎีกาที่ 5332/2560 การใช้ถุงพลาสติกซึ่งไม่มีช่องอากาศ ครอบศีรษะผู้ตายจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจ และถึงแก่ความตายได้จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้วโดยข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้เป็นกรณี จำเลยใช้ถุงพลาสติกซึ่งไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะผู้ตาย แล้วใช้เทปกาวพันรอบถุงบริเวณลำคอผู้ตายแม้จำเลยจะอ้างว่าไม่มีเจตนาฆ่า เพราะถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายจริงจำเลยก็คงเอามีดแทงหรือบีบคอผู้ตายให้ถึงแก่ความตายไปแล้ว คงไม่ต้องลำบากหาถุงพลาสติกมาครอบศีรษะจำเลยนั้น เห็นได้ว่าแม้จำเลยจะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คงเพียงแต่จะทรมานผู้ตายเท่านั้น แต่จำเลยย่อมเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้วเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 การที่จำเลยจะอ้างว่าการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะได้นั้นต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเสียก่อน และต้องเป็นการกระทำความผิดในขณะที่ถูกผู้ตายข่มเหงด้วย
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องหากท่านใดสวนใจว่าแต่ละมาตราเขียนว่าอย่างไรและกำหนดโทษอย่างไรสามารถดูได้จากบทบัญญัติของกฎหมายดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 290 ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 289 ผู้ใด
(๑) ฆ่าบุพการี
(๒) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
(๓) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
(๔) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
(๕) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
(๖) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ
(๗) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ต้องระวังโทษประหารชีวิต


มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต

มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา 199 ผู้ใดลอบฝัง ซ่อนเร้น ยักย้าย หรือ ทาลายศพหรือส่วนของศพเพื่อปิดบังการเกิด การตาย หรือเหตุแห่งการตาย ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจาทั้งปรับ”

มาตรา 366/3 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งศพ ส่วนของศพ อัฐิ หรือเถ้าของศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp