
คดีอาญาขาดอายุความคืออะไร
จากกรณีปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่าอดีตนายก อบจ.จังหวัดหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหา “สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ รักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล” อยู่ระหว่างการหลบหนีและคดีได้ขาดอายุความเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 ตำรวจก็ได้กระจายกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักถึง 5 จุดเพื่อค้นหา แต่ก็ไม่พบตัวผู้ต้องหาแต่อย่างใด จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคดีขาดอายุความได้ด้วยหรือ แล้วผลของการขาดอายุความเป็นอย่างไร
ประเด็นดังกล่าวมีข้อพิจารณาทางกฎหมายดังต่อไปนี้
อายุความในคดีอาญา หมายถึง ระยะเวลาสำหรับการฟ้องคดีและอายุความสำหรับการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด คดีใดที่มีอัตราโทษสูงก็จะมีอายุความที่ยาว ในทางกลับกันหากคดีใดที่ไม่ร้ายแรงมากนักก็จะมีอายุความที่สั้นลงมา
ในความผิดฐาน “เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ รักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล” ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท ถ้าเป็นผู้สนับสนุนจึงต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้ ดังนั้นแล้วจึงถือเป็นความผิดที่ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี จึงมีกำหนดอายุความ 20 ปี นับแต่วันกระทำความผิด หากปรากฏว่าไม่ได้ฟ้องและไม่ได้นำตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในอายุความดังกล่าว คดีเป็นอันขาดอายุความ
กรณีตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำความผิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2545 ซึ่งเป็นความผิดที่ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปี จึงมีอายุความ 20 ปีนับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงครบกำหนดอายุความวันที่ 13 มิถุนายน 2565 เมื่อไม่ได้ฟ้องและได้นำตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2565 คดีจึงเป็นอันขาดอายุความ
ผลจากการที่คดีขาดอายุความทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ รักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล ระงับลงไป
ประเด็นปัญหาเพิ่มเติมมีอยู่ว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไประหว่างดำเนินคดีจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่
เนื่องจากคดีดังกล่าวเกิดเมื่อปี 2554 แต่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับภายหลังจากการกระทำความผิด ทั้งยังเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังอันเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด จึงไม่อาจใช้บังคับย้อนหลังมาเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิดได้
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
(1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
(2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
(5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
ฎีกาที่ 2144/2539 ข้อหาความผิดฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมาศาลภายใน 10 ปี(มาตรา 95 (3)) นับแต่วันกระทำความผิด จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527 วันสุดท้ายของอายุความ 10 ปี คือวันที่ 3 ธันวาคม 2537
ฎีกาที่ 9568/2555 ในความผิดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบ มาตรา 353 มีอายุความสิบปี ป.อ. มาตรา 95(3) บัญญัติว่า หากไม่ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ หมายความว่า อายุความในการฟ้องคดีเริ่มนับตั้งแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไป