
คดีอุทลุม คือ คดีที่ห้ามไม่ให้บุตรฟ้องผู้บุพการีของตนทั้งในคดีแพ่ง และคดีอาญา นั่นเอง ตามธรรมเนียมประเพณีไทย บิดา มารดา ปู่ ย่า ตายาย ทวด เป็นผู้มีบุญคุณอย่างล้นเหลือ เป็นผู้มีพระคุณ ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตร จึงเป็นบุคคลที่สมควรให้ความเคารพนับถืออย่างสูงสุด อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที บุตรคนใดที่กระทำการที่ไม่ดีต่อบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด มักถูกเรียกว่า เป็นผู้เนรคุณ ดังนั้น กฎหมายจึงได้ห้ามไม่ให้บุตรฟ้องบุพการีของตน แต่ก็ไม่ได้ห้ามเด็ดขาด เพราะกฎหมายยังได้เปิดโอกาสให้ผู้สืบสันดานหรือญาติสนิทของผู้สืบสันดานร้องขอให้อัยการยกคดีนั้นขึ้นว่ากล่าวแทนได้ ก็คือกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ฟ้องบุพการีของตนเองได้ แต่จะฟ้องตรงๆ ไม่ได้ต้องร้องขอให้อัยการดำเนินการแทนได้ และการที่พนักงานอัยการฟ้องคดีเช่นนี้ เป็นการเข้าดำเนินคดีในฐานะเป็นโจทก์ ไม่ใช่ฐานะทนายความจึงไม่ต้องมีการแต่งตั้งทนายความ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 14 พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ …
(6) ในคดีที่ราษฎรฟ้องเองไม่ได้โดยกฎหมายห้าม เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ได ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้เป็นกรณีที่ราษฎรฟ้องเองไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ห้ามไว้ จึงต้องให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องแทน
1.คำพิพากษาฎีกาที่ 1378/2564 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญานั้น เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดซึ่งต้องหมายความว่า เป็นการห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว แต่ผู้ตายกับมารดาของโจทก์ทั้งสามมิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ทั้งสามจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็ต่อเมื่อผู้ตายและมารดาของโจทก์ทั้งสามได้สมรสกันในภายหลัง หรือผู้ตายได้จดทะเบียนว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ทั้งสาม จึงมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 เป็นย่าของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามก็ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้
2. คำพิพากษาฎีกาที่ 1578/2558 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้” เช่นนี้ แม้โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของจ่าสิบเอก ม. ผู้ตายแทนที่ร้อยตำรวจตรี ม. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย และมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 352, 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225