
จากกรณีปรากฏเป็นกระแสข่าวมีเด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งถูกครูสอนวิชาพละศึกษาใช้มือตบจนเด็กมีอาการปวดและมีรอยช้ำ ครูอ้างว่าทำไปเพื่อสั่งสอน เพราะเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการที่ครู อาจารย์ ลงโทษเด็กด้วยการตบ ตี หรือใช้ความรุนแรง นั้นสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายใดหรือไม่
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 วางหลักในเรื่องการลงโทษนักเรียน นักศึกษาว่า โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำผิดมี 4 สถาน ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือกลั่นแกล้งหรือลงโทษด้วยความโกรธหรือด้วยความพยาบาท การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาต้องเป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป
จากระเบียบดังกล่าว จะเห็นได้ว่าไม่ได้ให้อำนาจครูอาจารย์ที่จะลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาด้วยการตี หรือใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่นใด การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางวินัยต่อไป อาจถูกลงโทษถึงขั้นปลดออกหรือไล่ออก
นอกจากนี้แล้วก็อาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนจะมีความผิดฐานใด ก็ต้องพิจารณาจากบาดแผล พฤติการณ์ในการกระทำ ผลกระทบที่เกิดกับนักเรียน หากไม่ได้รุนแรงมากนัก ก็อาจเข้าข่ายมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อันเป็นความผิดลหุโทษ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่หากลงโทษโดยใช้ความรุนแรงเกินไปจนถึงขนาดเกิดบาดแผล มีเลือดตกยางออก ก็เข้าข่ายมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าการลงโทษนั้นถึงขั้นทำให้นักเรียนได้รับอันตรายสาหัส เช่น ตาบอด หูหนวก จิตพิการ ก็จะมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน -10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท – 200,000 บาท
อย่างไรก็ตามก่อนการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่า การที่ครูลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตีสั่งสอนเด็กแล้วเด็กนักเรียนจะได้บาดเจ็บเล็กน้อย เป็นการใช้อำนาจในการทำโทษภายในขอบเขตอันสมควร เพื่อหวังจะปราบปรามและสั่งสอนเด็กให้มีความประพฤติที่ดี ดังนั้นนครูอาจารย์จึงไม่มีความผิด
แต่ในปัจจุบัน สภาพสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนตระหนักถึงสิทธิเด็กมากขึ้น การเฆี่ยนตีหรือการใช้ความรุนแรงต่อเนื้อตัวร่างกายเด็กนักเรียนจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ประกอบกับได้มีประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 บังคับใช้อีกด้วย แต่ก็ยังพบว่ามีครูที่มีทัศนคติว่าการลงโทษเด็กนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตียังคงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งศาลฎีกาจะวินิจฉัยอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป
ประมวลกฎหมายอาญา
1.ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ1.ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548
3.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 429-430/2505 ผู้เสียหายเป็นภิกษุ บังคับจะเอามีดจากจำเลยซึ่งเป็นศิษย์ เนื่องจากจำเลยเป็นคนโมโหร้ายมีมีดไว้กลัวจะมีเรื่องจำเลยแสดงกิริยาขัดขืนจะต่อสู้ ผู้เสียหายจึงใช้ไม้ฟาดไปทีหนึ่ง จำเลยยกแขนขึ้นรับปัดไม้กระเด็นไป จำเลยโถมเข้าหาผู้เสียหายล้มลงกอดปล้ำกันกลิ้งไปมา จำเลยใช้มีดที่ถืออยู่แทงผู้เสียหาย เช่นนี้ ไม่เป็นการป้องกันสิทธิของตน มาตรา 68 เพราะเมื่อจำเลยปัดไม้กระเด็นไป อันตราย จากไม้นั้นก็สิ้นไปแล้ว และการที่ผู้เสียหายใช้ไม้ฟาดจำเลยไปทีหนึ่ง ก็เป็นการใช้อำนาจของอาจารย์ภายใน ขอบเขตอันสมควร ไม่ใช่เป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะบันดาลโทษะขึ้นเพราะเหตุนี้ ก็เป็นการลุแก่โทษะ โดยมิบังควร จะปรับว่า เป็นการบันดาลโทษะตามมาตรา 72 ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2530 ผู้เสียหายถูกแทงด้วยมีดปลายแหลมที่ต้นแขนซ้ายเป็นบาดแผลขนาด 2.5 เซนติเมตรทะลุไปอีกด้านหนึ่ง หลังเกิดเหตุประมาณ 7วันผู้เสียหายไปหาแพทย์เพื่อตัดไหม แพทย์บอกว่าบาดแผลเป็นปกติ และผู้เสียหายก็ไปเรียนหนังสือกับทำกิจการงานต่าง ๆได้ แม้ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นนักศึกษาสาขาวิชาพลศึกษา ต้องเรียนภาคปฏิบัติคือการเล่นกีฬาที่ต้องใช้แขนและหลังเกิดเหตุแล้ว 1 เดือน ผู้เสียหายไม่อาจเล่นกีฬาได้มากเท่าบุคคลปกติเพราะยังรู้สึกเสียวที่แขน ก็เป็นเพียงแต่ทำให้ผู้เสียหายขาดความสะดวกในการใช้แขนลดน้อยลงเท่านั้น หาทำให้ผู้เสียหายประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เสียเลยทีเดียวไม่จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8).
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2473 จําเลยเป็นครูใหญ่ได้ทําโทษเด็กชาย ล. บุตรโจทกซึ่งเป็นนักเรียน โดยให้เปลื้องกางเกงออกนอนควํ่าลงตีด้วยกิ่งมะขามตามก้นและขา 12 ทีมีบาดแผลโลหิตไหล 13แห่ง ฟกชํ้าเขียว 5แห่ง บาดแผลระบม ทําให้เด็กชาย ล.เป็นไข้อยู่6 – 7วัน เนื่องจากเด็กชาย ล.ได้พูดว่า “จะฉะนางศิริ (คือภรรยาจําเลย) ให้ท้องโต” พิพากษาว่า จําเลยไม่มีความผิดฐานกระทําอนาจาร แต่มีความผิดฐานทําร้ายร่างกายเท่านั้น