ครูลงโทษเด็กนักเรียนโดยทำร้ายร่างกาย ระวัง !!! ติดคุก นะคุณครู

ก็มีข่าวมาให้เห็นกันเรื่อยๆ  กรณีที่คุณครู/อาจารย์ ลงโทษเด็กนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำผิดระเบียบหรือกรณีที่ไม่ส่งการบ้านต่างๆ  มีข่าวให้เห็นกันอยู่เรื่อยเป็นประจำและบางแห่งก็ทราบถึงขั้นมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีหรือบางแห่งก็มีการลงโทษทางวินัยกับคุณครูตามที่เป็นข่าว แต่ก็ยังมีข่าวปรากฏอยู่เรื่อย ๆ 

เช่นกรณีนี้ก็มีข่าวว่ากรณีที่เด็ก ป 5 ไม่ส่งการบ้านเป็นเหตุให้คุณครูลงโทษถึงขั้นแขนหักต้องเข้าเฝือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวในโลกเชี่ยลปัจจุบันหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ปรากฏตามข่าวในโลกโซเชี่ยลจริงแล้ว ก็เรียนให้คุณครูทั้งหลายว่าการทำโทษในลักษณะดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการลงโทษหรือเป็นการสั่งสอนศิษย์ตามหน้าที่ธรรมจรรยาที่ควรจะเป็น แต่การลงโทษถึงขั้นแขนหักต้องเข้าเฝือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวในโลกเชี่ยลปัจจุบัน นั้นถือว่าเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา “ฐานทำร้ายร่างกาย” ซึ่งมีโทษจำคุกนะครับ !!ส่วนโทษจำคุกจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับผลของการทำร้ายร่างกายของผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกาบว่าได้รับบาดเจ็บอย่างไร เช่นถ้าไม่ถึงเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีโทษจำคุกไม้เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท   แต่ถ้าทำร้ายจนได้รับอันตรายแก่กายมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือถ้าทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายแก่กายสาหัส มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท 

ป.อ.มาตรา 295  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ป.อ.มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

        อันตรายสาหัสนั้น คือ

        (1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท

        (2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

        (3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด

        (4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

        (5) แท้งลูก

        (6) จิตพิการอย่างติดตัว

        (7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

        (8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2530  ผู้เสียหายถูกแทงด้วยมีดปลายแหลมที่ต้นแขนซ้ายเป็นบาดแผลขนาด 2.5 เซนติเมตรทะลุไปอีกด้านหนึ่ง หลังเกิดเหตุประมาณ 7วันผู้เสียหายไปหาแพทย์เพื่อตัดไหม แพทย์บอกว่าบาดแผลเป็นปกติ และผู้เสียหายก็ไปเรียนหนังสือกับทำกิจการงานต่าง ๆได้ แม้ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นนักศึกษาสาขาวิชาพลศึกษา ต้องเรียนภาคปฏิบัติคือการเล่นกีฬาที่ต้องใช้แขนและหลังเกิดเหตุแล้ว 1 เดือน ผู้เสียหายไม่อาจเล่นกีฬาได้มากเท่าบุคคลปกติเพราะยังรู้สึกเสียวที่แขน ก็เป็นเพียงแต่ทำให้ผู้เสียหายขาดความสะดวกในการใช้แขนลดน้อยลงเท่านั้น หาทำให้ผู้เสียหายประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เสียเลยทีเดียวไม่จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2548    ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายต้องใช้เวลารักษาเกินกว่า 21 วัน  แต่ผู้เสียหายเบิกความเพียงว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการถูกทำร้ายต้องใช้เวลารักษา 21 วัน จึงหายเป็นปกติ โดยมิได้เบิกความให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อย่างไร ลำพังกระดูกโหนกแก้มขวาหักจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน 21 วัน เป็นเรื่องการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจนต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อันจะถือว่าเป็นอันตรายสาหัส ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 297 (8)

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp