
จากที่มีชายคนหนึ่งถูกผู้มีอิธิพลขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ชายผู้นั้นจึงได้นำคลิปเสียงที่ได้บันทึกไว้ตอนที่ถูกข่มขู่ผ่านทางโทรศัพท์มาเข้าแจ้งความ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคลิปเสียงดังกล่าวสามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้หรือไม่
ประเด็นดังกล่าวมีข้อพิจารณาทางกฎหมายดังต่อไปนี้
หลักการรับฟังพยานหลักฐาน คือ กระบวนการที่ศาลจะใช้วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานใดสามารถนำสืบได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมีหลักเกณฑ์คือ พยานหลักฐานทุกชนิดที่น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ทั้งสิ้น แต่มีข้อยกเว้นคือ ต้องไม่ใช่พยานหลักฐานที่เกิดจากการจูงใจ การขู่เข็ญหลอกลวง หรือการกระทำโดยไม่ชอบประการอื่น หากเป็นหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำโดยมิชอบแล้วนั้น ศาลจะไม่สามารถใช้ดุลพินิจในการรับฟังเป็นพยานหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐาน แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานได้ ไม่ว่าจะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ศาลก็สามารถใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานได้ โดยศาลจะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งคุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ รวมถึง ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด
เมื่อศาลได้พิจารณาปัจจัยต่างๆดังกล่าวประกอบกันแล้ว หากศาลเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศาลก็สามารถพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำโดยไม่ชอบได้ ในทางกลับกันหากศาลพิจารณาได้ว่าการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีผลเสียมากกว่า ศาลก็จะไม่สามารถรับฟังพยานหลักฐานนั้นได้
กรณีดังกล่าวแตกต่างจากข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2555 เพราะเป็นกรณีที่ทนายจำเลยได้แอบบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานโดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อน จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยไม่ชอบ ห้ามศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่เมื่อพยานหลักฐานนั้นเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่า ศาลก็สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
รวมถึงกรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2563 เป็นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันและเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีไม่ใช่เรื่องร้ายร้ายที่จะกระทบความมั่นคงของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะโดยรวม เช่นนี้การแอบบันทึกเสียงการสนทนาโดยที่จำเลยกับคู่สนทนาไม่ทราบมาก่อน เป็นผลเสียที่กระทบเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนมากกว่า จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ดังนั้น เมื่อคลิปเสียงที่ชายคนนั้นอ้างว่าถูกผู้มีอำนาจข่มขู่ ไม่ได้เกิดจากการที่หลอกล่อหรือจูงใจให้อีกฝ่ายสนทนาด้วย แต่เป็นเพียงวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด โดยที่ผู้กระทำความผิดมีเจตนาที่จะกระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่ถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยไม่ชอบอันจะต้องห้ามไม่ให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐาน
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
มาตรา 226/1 ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย อันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น
(2) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี
(3) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ
(4) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2555 การแอบบันทึกเทปขณะที่มีการสนทนากันระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ 2 โดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อน เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาคดีได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 11 บัญญัติให้เพิ่มมาตรา 226/1 ป.วิ.อ. กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ศาลจึงนำบันทึกเทปดังกล่าวมารับฟังได้