ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และความผิดฐานกระทำอนาจาร ยอมความได้หรือไม่?

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และความผิดฐานกระทำอนาจาร ยอมความได้หรือไม่?
จากกรณีปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่านักการเมืองรายหนึ่งถูกแจ้งความในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นและกระทำอนาจารแก่ผู้อื่น ปรากฏต่อมาว่าภายหลังมีผู้เสียหายบางส่วนที่ถอนแจ้งความไป อ้างว่าไม่ติดใจเอาความแล้ว จึงทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นและกระทำอนาจารแก่ผู้อื่นนั้นสามารถยอมความได้หรือไม่

ประเด็นดังกล่าวมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้

1. ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคหนึ่ง ให้พิจารณาตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 27 พ.ศ.2562 ลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 กล่าวคือ กรณีที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อน วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ยังคงถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ มีผลในทางกฎหมายคือ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีเป็นอันขาดอายุความ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป หรือแม้ว่าคดีจะเข้าสู้ชั้นศาลแล้ว แต่ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดก็ยังสามารถเจรจายอมความกันเพื่อยุติคดีอาญาได้ทุกเมื่อ หากการยอมความสำเร็จ คดีอาญาจะยุติลงทันที สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป

แม้รัฐจะมีหลักฐานมัดตัวผู้กระทำความผิด ก็ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายต่อได้ เพราะเมื่อผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ตามระเบียบ ก็ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์เกิดขึ้น นอกจากจะทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับแล้ว พนักงานสอบสวนก็ไม่เกิดอำนาจทำการสอบสวน มีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ตามหากการกระทำความผิดเกิดตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ถือว่าเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งเป็นความผิดที่ผู้กระทำความผิดมักจะมีพฤติกรรมเป็นภัยสังคมหรือกระทำการกระทบความสงบเรียบร้อยของสังคม เมื่อเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้ผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ตามระเบียบ พนักงานสอบสวนก็สามารถสอบสวนคดีได้เสมอ เมื่อมีการสอบสวนโดยชอบ ก็ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องผู้กระทำความผิดได้ แม้ผู้กระทำความผิดจะถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง เจรจายอมความกับผู้เสียหายสำเร็จ คดีอาญาก็ไม่ยุติ

2. ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่ผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 (เดิม) หรือมาตรา 278 วรรคแรก (ที่แก้ไขใหม่) ให้พิจารณาว่าเป็นการกระทำอนาจารแก่ผู้อื่นที่เกิดต่อหน้าธารกำนัล(อยู่ในวิสัยที่อาจมีคนอื่นพบเห็น หรือมีคนอื่นเห็น)หรือไม่ กล่าวคือ กรณีที่กระทำอนาจารแก่ผู้อื่นต่อหน้าธารกำนัล เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ แม้ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน 3 นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีก็ไม่ขาดอายุความ ไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับ หรือแม้แต่ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ จึงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์เลย พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการสอบสวนได้ แม้ปรากฏภายหลังว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้อง ก็ไม่ตัดอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการและไม่ตัดอำนาจศาลที่จะพิจารณาพิพากษา เนื่องจากเมื่อเป็นความผิดอาญาแผ่นดินแล้ว รัฐก็เป็นผู้เสียหายด้วย เพราะเป็นความผิดกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แม้ผู้เสียหายจะไม่ติดใจเอาความ รัฐก็สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นการกระทำอนาจารผู้อื่น โดยไม่ได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้น หากผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ

ดังนั้น สรุปได้ว่า ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคหนึ่ง หากการกระทำความผิดเกิดก่อนวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ถ้าเกิดตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจารแก่ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 (เดิม) หรือมาตรา 278 วรรคแรก (ที่แก้ไขใหม่) หากการกระทำอนาจารแก่ผู้อื่นเกิดต่อหน้าธารกำนัล เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล เป็นความผิดอันยอมความได้

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 276 วรรคแรก ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา 278 วรรคแรก ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13596/2553 แม้ถนนที่เกิดเหตุเป็นถนนสายหลักและเป็นที่เปิดเผย แต่ตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุปรากฏว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนพหลโยธินขาขึ้น มีการสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลองอนุศาสนนันทน์และยังไม่แล้วเสร็จ รถยนต์ยังแล่นสัญจรผ่านสะพานไม่ได้ ส่วนถนนพหลโยธินขาล่องสร้างสะพานเสร็จเรียบร้อยและมีการเปิดการจราจรสวนกันที่บริเวณสะพานข้ามคลองดังกล่าว ทั้งบริเวณเกาะกลางถนนที่จำเลยทั้งสองนำผู้เสียหายที่ 4 มากระทำอนาจาร มีการปลูกหญ้าเต็มเกาะกลางถนน แสดงว่าขณะเกิดเหตุบริเวณถนนที่เกิดเหตุยังไม่เปิดให้บุคคลใดขับรถผ่าน ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่ามีผู้ขับรถสัญจรไปมาบนถนนที่เกิดเหตุที่จะให้การกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 4 ของจำเลยทั้งสองได้เกิดต่อหน้าบุคคลผู้สัญจรไปมาทั่วไป การกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 4 จึงไม่ได้เกิดต่อหน้าต่อตาผู้คนจำนวนมากหรือที่มีผู้ชุมนุม ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4593/2553 จำเลยกระทำอนาจารจับหน้าอกผู้เสียหายในร้านอาหารซึ่งมีลูกค้านั่งรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะอื่นด้วย และมี น. พนักงานร้านอาหารนั้นเห็นจำเลยจับหน้าอกผู้เสียหายขณะ น. เสิร์ฟอาหารอยู่โต๊ะอื่น จึงเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล และมิใช่ความผิดฐานกระทำอนาจารที่จะยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 281 ประกอบมาตรา 278 แม้ผู้เสียหายแถลงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ยังไม่ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3326/2563 พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันมา การที่ผู้เสียหายอาศัยอยู่กับจำเลยมาตั้งแต่อายุได้เพียง 2 ปี และเป็นบุตรบุญธรรมจำเลยด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายโดยปกติย่อมไม่มีความสัมพันธ์แบบชู้สาว อีกทั้งผู้เสียหายมีคนรักอยู่ด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา แม้ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนก็ตาม แต่เพราะเคยถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรามาก่อนและผู้เสียหายขัดขืนถูกจำเลยทำร้ายโดยใช้เท้าถีบ ทั้งยังต่อว่าผู้เสียหายทำนองว่าขอแค่นี้ไม่ได้หรือไง ผู้เสียหายจึงไม่กล้าที่จะต่อสู้ขัดขืนจำเลย จึงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโดยมิได้เกิดจากความสมัครใจหรือยินยอมของผู้เสียหาย การที่จำเลยถอดกางเกงของผู้เสียหายออกแล้วสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ชักเข้าออกจนสำเร็จความใคร่ ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp