
คุณสมบัติ
นายกเทศมนตรี
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
- สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 ม.48 เบญจ
กรณีสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
– บุคคลที่เคยเป็นกรรมการสุขาภิบาล/ กรรมการ อบต. โดยตำแหน่ง (ผู้ใหญ่บ้าน) ถือเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น
– เคยเป็นรองนายกเทศมนตรี ไม่ถือว่าเคยเป็นผู้บริหารท้องถิ่น (บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีเห็นความว่า รองนายกเทศมนตรี มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่น และคำว่า ‘‘ผู้บริหารท้องถิ่น’’ ไม่หมายความรวมถึง รองนายกเทศมนตรีด้วย )
สมาชิกสภาเทศบาล
- กฎหมายไม่กำหนดวุฒิการศึกษา
- มาตรา 49 (3)
ผู้สมัครต้องเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้งในวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
กรณีมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันในเขตเทศบาลไม่น้อยกว่าหนึ่งปี แต่ต่อมาย้ายทะเบียนบ้านออกไปยัง อปท.อื่น แล้วย้ายกลับมาที่เดิมไม่ถึงหนึ่งปี ถือว่าขาดคุณสมบัติ
กรณีผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งหนึ่ง สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเขตเลือกตั้งอื่นในเทศบาลเดียวกันได้ ถ้ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันในเขตเทศบาลไม่น้อยกว่าหนึ่งปี เช่น นาย ก มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง ที่ 1 สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เขตเลือกตั้งที่ 2 ได้
ลักษณะต้องห้าม
มาตรา 50 (3)
เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในการกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ
กรณีตามอนุมาตรานี้ กกต.เคยมีคำวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (การเลือกตั้งปี 2563) ไว้ดังนี้
– เคยเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ต่อมาได้โอนให้แก่บุตรสาว และได้แสดงหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550
วินิจฉัยว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของ (คำวินิจฉัย กกต. ที่ 59/2563)
– เคยเป็นผู้ถือหุ้นใน หจก.เคเบิลทีวี ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน ก่อนสมัคร โดยได้แสดงสำเนาจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนออกจาก หจก.
วินิจฉัยว่า มิได้เป็นผู้ถือหุ้น (คำวินิจฉัย กกต.ที่ 71/2563)
– เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ต่อมาได้หยุดพิมพ์ โดยไม่ปรากฏหลักฐานการแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของ
วินิจฉัยว่า แม้บริษัทจะหยุดกิจการ ก็ยังสามารถประกอบกิจการเมื่อใดก็ได้ ตราบที่ยังมิได้จดทะเบียนเลิกและแจ้งยกเลิก (คำวินิจฉัย กกต. ที่ 99/2563)
– เป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ประชารัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์ข้อ (19) ตามหนังสือรับรองบริษัทระบุว่า “ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย และออกหนังสือพิมพ์
วินิจฉัยว่า บริษัท ประชารัฐสามัคคี แม่ฮ่องสอน (วิสาหกิจเพื่อสังคม) เป็นกิจการตามนโยบายสานพลังประชารัฐของรัฐบาลที่มุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก โดยมิได้มุ่งแสวงหาผลกำไรในเชิงธุรกิจ จึงเป็นบุคคลผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม (คำวินิจฉัยที่ 72/2563, 116/2563)
มาตรา 50 (7)
เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
– ต้องเป็นกรณีรับโทษจำคุกจริง และพ้นโทษจำคุกมาแล้วถึง 5 ปี
– กรณีความผิดว่าด้วยกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่ไม่ใช่ความผิดฐานผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า แต่เป็นความผิดฐานผู้เสพ หรือ กฎหมายว่าด้วยการพนันที่มิใช่ในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสำนัก แต่เป็นความผิดฐานผู้เล่น ให้พิจารณาตามอนุมาตรา (7) ว่าพ้นโทษจำคุกมาแล้วถึง 5 ปีหรือไม่
มาตรา 50 (10)
เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ว่ากระทำความผิดต่อ
1. ตำแหน่งที่ราชการ ในการยุติธรรม ความผิดพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานรัฐ
2. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์พึงกระทำโดยุจริตตามประมวลกฏหมายอาญา อาทิ ลักทรัพย์/ ปล้นทรัพย์/ ยักยอก/ ฉ้อโกง/ ชิงทรัพย์/ กรรโชคทรัพย์ /ริบเอาทรัพย์/ วิ่งราวทรัพย์ /รับของโจร /ทำให้เสียทรัพย์ /บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
3. กฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
4. กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ต้องเป็นความผิดฐานนำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า เท่านั้น ไม่รวมถึงผู้เสพ
5. กรณีกฎหมายว่าด้วยการพนัน ต้องเป็นความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสำนัก
6. ความผิดฐานค้ามนุษย์ /ความผิดฐานฟอกเงิน
บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ว่ากระทำความผิดดังกล่าว เป็นผู้บุคคลมีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 50(10) ทำให้ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกต่อไป
มาตรา 50 (14)
เป็นพนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่น
เคยมีประเด็นคำถามเรื่อง อสม.ว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นรัฐหรือไม่ /อสม.ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นรัฐ เนื่องจาก อสม.ไม่มีค่าตอบแทน แต่เป็นค่าป่วยการที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรให้
มาตรา 50 (21)
เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยังไม่พ้น 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง
กรณีนี้ต้องนับต่อไปอีก 5 ปีนับแต่วันที่พ้น เช่น
– กรณีถูกเพิกถอนถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี สมมุติว่าถ้าพ้นระยะ 1 ปี ในวันที่ 1 ก.พ. 64 จะเป็นบุคคลที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ต้องนับต่อไปอีก 5 ปีนับจากวันพ้น (1 ก.พ. 64) ดังนั้น วันที่พ้นคือวันที่ 1 ก.พ. 69
– ถ้าเป็นกรณีถูกเพิกถอนสิทธิ 5 ปี ต้องนับต่อไปอีก 5 ปี = 10 ปี จึงจะไม่เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้าม
– กรณีผู้ใดต้องโทษตาม มาตรา 120“ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี” กรณีนี้ผู้กระทำความผิดต้องเว้นวรรค 20+5=25 ปี เป็นต้น
มาตรา 50 (23) (24) (25)
เป็นกรณีเคยพ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุ
– มีส่วนได้เสียในสัญญา/ หรือกิจการที่กระทำ /จะกระทำกับ ให้อปท. หรือ อปท.อื่น ในลักษณะอย่างตอบแทน เอื้อประโยชน์ระหว่างกัน และยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง (23)
– จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบทางราชการ มติครม. อันเป็นเหตุให้เสียแก่ราชการอย่างร้ายแรง และยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง (24)
– ทอดทิ้ง/ละเลยไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ/ปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจ/ประพฤติตนฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน/ประพฤติตนในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง/อปท./ราชการ และยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง (25)
มาตรา 51 (2)
ผู้สมัครต้องยื่นหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร
– หลักฐานการเสียภาษี ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร (ภ.ง.ด. 90/ภ.ง.ด.91/ภ.ง.ด.94) หรือใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร (กรณีจ่ายเพิ่มเติม)
– ต้องเป็นหลักฐานการเสียภาษีของปี 2561 /2562/ 2563
– การเสียภาษีปี 2563 สามารถยื่นได้ที่สรรพากรพื้นที่ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป /และสามารถยื่นเสียภาษี 3 ปีย้อนหลังในคราวเดียวกันได้
– กรณีเป็นผู้ไม่ได้เสียภาษี ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่เสียภาษี พร้อมเหตุผล (ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 4/2) สามารถขอรับได้พร้อมใบสมัครที่เทศบาล
– กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นภาษีปี 2563 แนะนำให้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรในพื้นที่
– ผู้สมัครสามารถยื่นแบบเสียภาษีทาง internet ได้