
ฆ่าบุพการีโทษหนักกว่าฆ่าบุคคลทั่วไปหรือไม่ ???
กรณีมีข่าวหดหู่สะเทือนขวัญที่หลานฆ่ายายนั้น กฎหมายมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดต่อผู้บุพการีให้รับโทษหนักขึ้นเนื่องจากผู้บุพการีเป็นผู้มีพระคุณเป็นที่เคารพรักของบุตรหลาน กฎหมายจึงได้กำหนดโทษให้สูงกว่าการกระทำความผิดต่อบุคคลทั่วไป เช่นฆ่าบิดา มารดาฆ่าปู่ยา ตายาย กฎหมายจึงกำหนดโทษสูงสถานเดียวคือประหารชีวิต ความแตกต่างของโทษในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นบุคคลทั่วๆ ไป กับการฆ่าผู้บุพการี ซึ่งการฆ่าผู้อื่นจะมีกำหนดโทษ คือประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบหาปีถึงยี่สิบปีซึ่งเป็นดุลพินิจที่ให้ศาลเลือกลงโทษได้ แต่การฆ่าบุพการีมีโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว
บุพการี หมายถึง ญาติทางสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป ได้แก่ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด โดยถือบุพการีตามความเป็นจริงตามหลักสายโลหิต
ท่านที่สนใจ ศึกษาเพิ่มเติมได้ตามกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 289 ผู้ใด
(1) ฆ่าบุพการี
(2) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
(3) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
(5) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
(6) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ
(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ต้องระวางโทษประหารชีวิต
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2554 เหตุที่จำเลยถือขวานวิ่งไล่ฟันผู้เสียหาย เพราะโกรธที่ถูกกล่าวหาว่าลักพระจตุคามรามเทพ ผู้เสียหายวิ่งเข้าห้องนอนปิดประตู จำเลยฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวถูกประตูห้องนอนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยเลือกที่จะฟันอวัยวะสำคัญที่จะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย และไม่ได้ฟันผู้เสียหายซ้ำอีกทั้งที่จำเลยสามารถทำได้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้ขวานฟันผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายซึ่งเป็นบุพการี และเป็นความผิดที่รวมอยู่กับความผิดฐานพยายามฆ่าบุพการีตามฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2528 จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถูกที่ด้านหลัง กระสุนปืนตัดบริเวณไขสันหลังขาด ผู้ตายเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวจนจดเท้าและถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกยิงและภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรงหลังจากเกิดเหตุ 9 เดือนเศษ ดังนี้ผู้ตายถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกยิง แม้จะเนื่องจากการรักษาไม่ดีจนบาดแผลติดเชื้อ ก็เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนา
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2554 แม้การเข้าไปทำร้ายผู้ตายในตอนแรก จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ร่วมรู้เห็นหรือสมคบกับ ส. บ. ค. หรือจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เข้าไปเตะผู้ตายเพียงครั้งเดียว ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้ตายก็ตาม แต่เหตุการณ์ทำร้ายผู้ตายดังกล่าวได้ยุติลงและขาดตอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกลากผู้ตายซึ่งขณะนั้นไม่ได้สติไปโยนลงแม่น้ำ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการนำผู้ตายซึ่งอยู่ในสภาพที่หมดสติไปโยนทิ้งน้ำเช่นนั้น ย่อมไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และต้องจมน้ำตาย จำเลยที่ 1 จึงมีเจตนาร่วมกับพวกฆ่าผู้ตาย