จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับของกฎหมาย ผลเป็นอย่างไร

นิติกรรม คือ การกระทำใดๆของบุคคลที่ทำโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ การกระทำที่ต้องการให้มีผลผูกพันกันได้ตามกฎหมาย จะต้องทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ต้องไม่ใช่การกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้น การที่ได้ทำลงไปก็จะตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย

การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เป็นการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล กล่าวคือ เป็นการกระทำที่ทำให้บุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมทันทีนับแต่วันที่จดทะเบียน เช่น มีสิทธิใช้นามสกุล มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม ดังนั้น การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจึงเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตามหากปรากฎว่า การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมกระทำลงโดยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ ตัวอย่างเช่น

จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ส.ป.ก. 4 – 01 เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ข้อตกลงดังกล่าวจึงทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมาย หาใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ตามที่โจทก์ฎีกา จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

หรือในกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่มีอายุเกินกว่า 20 ปี อาจตกเป็นโมฆะได้ หากปรากฏว่าเป็นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับของกฎหมายเรื่องการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กล่าวคือ เมื่อบุคคลใดมีสถานะเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 จึงมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบทั้งในส่วนของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยคู่สมรสให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย

ดังนั้น การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ที่ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับของกฎหมายที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นก็อาจตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 149 นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6399/2551 โจทก์ทราบดีมาแต่แรกว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น มีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี แต่โจทก์ก็ยอมตนเข้าผูกพันทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินมัดจำไป 400,000 บาท จึงเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ มาตรา 411 บัญญัติว่า บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินมัดจำ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9152/2557 ตามบันทึกข้อตกลงตามเอกสาร จ.5 ข้อ 5 ที่ระบุว่าจำเลยและทายาทอื่นของ ห. ทุกคนต้องยินยอมและให้ความร่วมมือในการที่ ก. ภริยา ห. จดทะเบียนรับ ส. พี่ชายโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ส.ป.ก. 4 – 01 ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ข้อตกลงดังกล่าวจึงทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมาย หาใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ตามที่โจทก์ฎีกา จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์เบิกความว่าเงิน 40,000,000 บาท ที่จะจ่ายให้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงนั้น เป็นเงินรวมทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกเป็นหลายแปลง จึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาให้จำเลยโอนที่ดินทั้งหมดทุกแปลงแก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินรวม 40,000,000 บาท จึงไม่สามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp