
ตามปัญหานี้เป็นกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ต้องจัดการดูแลต้นไม้ที่ครอบครองหากมีการดูแลไม่ดีหรือปล่อยปละละเลยไม่ค้ำจุนต้นไม้ให้ดี ทางโรงพยาบาลเจ้าของลานจอดรถก็ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายจากการที่ต้นไม้ล้มทับรถยนต์ของผู้ที่นำมาจอดได้แต่หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่ากรณีลานจอดรถเป็นของบุคคลอื่นหรือมีผู้เช่าลานจอดรถและนำมาบริหารจัดการในการให้จอดรถและเก็บค่าจอด ผู้เช่าลานจอดรถก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากต้นไม้ล้มทับรถยนต์ของผู้ที่นำมาจอด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 434 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วยในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3840/2563 จำเลยทำสัญญาเช่าพื้นที่จอดรถในโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุเพื่อบริหารจัดการและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าบริการจอดรถไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลค้ำจุนหรือตัดแต่งต้นไม้ในลานจอดรถให้มีสภาพมั่นคงเพียงพอที่จะต้านทานพายุที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลซึ่งหาได้เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ จำเลยในฐานะผู้ครองต้นไม้ที่หักล้มลงมาทับรถยนต์ที่ ณ. ผู้เอาประกันภัยนำไปจอดไว้ได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้กระทำละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๔ แก่ ณ. ผู้เอาประกันภัย เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แทนผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันซึ่งมีต่อจำเลยตามจำนวนเงินที่ชดใช้ไปนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 281/2560 ต้นกระถินปลูกในที่ดินของจำเลย แต่ห่างจากแนวเสาไฟฟ้าของโจทก์เพียง 2 ถึง 3 เมตร และสูงกว่าเสาไฟฟ้มากลักษณะนี้ต้องถือว่าการปลูกหรือค้ำจุนบกพร่องเพราะเป็นที่น่ากลัวอันตรายจากการหักโค่นของต้นกระถินล้มทับสายไฟฟ้าของโจทก์ ปกติธรรมดาต้นไม้ต้องมีวันโค่นล้มและไม่แน่นอนว่าจะโค่นล้มเมื่อใดต้นไม้ที่ปลูกในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ง่านเช่นนี้เจ้าของต้องตัดฟันให้เตี้ยลงเพื่อเมื่อโค่นล้มจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หรือจะต้องค้ำจุนด้านที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นให้โค่นล้มเข้ามาในที่ดินของตนเอง การปล่อยต้นกระถินดังกล่าวไว้ในลักษณะเช่นนั้นถือว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยผู้เป็นเจ้าของต้นกระถินที่บำรุงรักษาไม่เพียงพอตาม
ป.พ.พ. มาตรา 434 ต้นไม้สูงใหญ่ของจำเลยปลูกอยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้าของโจทก์มาก ถ้าโค่นล้มทับสายไฟฟ้าย่อมจะเกิดอันตรายแก่สายไฟฟ้า อุปกรณ์และเสาไฟฟ้า ยิ่งกรณีมีพายุฟ้าคะนองโอกาสที่ต้นไม้จะโค่นล้มก็มีมากเป็นธรรมดา ตามปกติแล้วในฤดูฝนหรือก่อนจะถึงฤดูฝนย่อมเกิดเหตุฝนฟ้าคะนองลมพัดแรงและมีต้นไม้หักโค่นล้มได้ เหตุดังกล่าวเป็นเรื่องที่อาจคาดการณ์และป้องกันได้ เหตุฝนฟ้าคะนองและมีลมพัดในฤดูฝนหรือก่อนจะถึงฤดูฝนอันเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปีดังกล่าว จึงมิใช่เหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8