ชี้นำข้อเท็จจริงในคดี ระวังโทษ!!


จากกรณีปรากฏกระแสข่าวในคดีหนึ่งว่า ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์เสมือนหนึ่งว่าตนรู้เห็นข้อเท็จจริงในสำนวน บ้างก็อ้างว่ามีแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนาม ต่างๆนา แล้วนำข้อเท็จจริงมาพูดชี้นำ กรณีแบบนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร?? แม้ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น การพูด การโฆษณา ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองไว้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็จะต้องไม่เป็นการก้าวล่วงสิทธิของผู้อื่นเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากใช้เสรีภาพเกินขอบเขตก็อาจมีความผิดได
ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานหมิ่นประมาท การใส่ความ คือ การทำให้ปรากฏข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ตาม หากทำให้ผู้อื่นเสียหายก็เป็นความผิด และรวมไปถึงการเล่าเรื่องที่ตนได้ยินมาให้บุคคลอื่นฟังก็เป็นการใส่ความอย่างหนึ่งเช่นกัน โดยการใส่ความนั้นมีหลายวิธี ทั้งการใช้คำพูด การแสดงกิริยาท่าทาง หรือสัญลักษณ์ต่างๆ

ข้อเท็จจริงที่จะเป็นหมิ่นประมาทได้นั้น ต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ เช่น นายเอ กล่าวว่า นายบีเป็นผีกระหัง ชอบออกไปล่าคนมากินและฆ่าให้ตาย จะเห็นได้ว่าความรู้สึกของบุคคลธรรมก็คงไม่เชื่อตามนั้น กรณีจึงไม่อาจทำให้เป็นการถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้
นอกจากนี้ การใส่ความจะต้องเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามด้วย ดังนั้น บุคคลที่สามจึงมีความสำคัญ ความผิดจะสำเร็จต่อเมื่อบุคคลที่สามได้รับทราบข้อความและเข้าใจข้อความหมิ่นประมาท การใส่ความผู้อื่นต่อบุคลที่สามนั้น จะต้องมีพฤติการณ์ประกอบการกระทำ คือ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง สำหรับการพิจารณาว่าน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ให้พิจารณาโดยใช้เกณฑ์ความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไป คือ คนปกติทั่วไปในสังคม ที่รู้ว่าอะไรผิด อะไรชอบ อะไรควร ไม่ควรทำ ไม่ใช่ยึดความรู้สึกของผู้ที่ถูกใส่ความ

ประการสุดท้ายคือ ผู้กระทำต้องมีเจตนา ที่จะใส่ความ หรือเจตนาแสดงข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งพาดพิงไปถึงผู้อื่นต่อบุคคลที่สามด้วย
นอกจากนี้หากได้มีการโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือประกาศ หรือโฆษณา ซึ่งมีลักษณะทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก และมีโอกาสที่ข้อความดังกล่าวนั้น จะถูกเผยแพร่ออกไปด้วยความรวดเร็ว ผู้กระทำก็จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 ซึ่งโทษหนักขึ้นกว่าหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต อันได้แก่ การแสดงความคิดเห็นเพื่อป้องกันชื่อเสียงของตน หรือกระทำการในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือการพูดติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนที่ย่อมกระทำกัน เช่น การพูดคุยกันเรื่องกิจการบ้านเมือง เรื่องข่าวสารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรือ การแสดงความคิดเห็นที่เป็นการแจ้งข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล

ผู้กระทำก็จะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 329
ดังนั้น จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ข่าวสาร ชี้นำข้อเท็จจริง เสมือนว่าตนไปอยู่ในเหตุการณ์จริง หากเป็นการทำให้ผู้อื่นถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหาย อันเข้าองค์ประกอบความผิดแล้ว ผู้กระทำก็จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา แล้วแต่กรณี แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต อันเป็นวิสัยของประชาชนที่พึงกระทำ เช่นนี้ ก็ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556 จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602 – 5604/2555 การที่จำเลยที่ 1 กับพวกใส่ความโจทก์ร่วมในเรื่องดังกล่าวโดยไม่เป็นความจริง จึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอันจะทำให้ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และการที่จำเลยที่ 1 กับพวกใส่ความโจทก์ร่วมเฉพาะในเรื่องดังกล่าวโดยไม่เป็นความจริงก็สามารถทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังได้ในตัวอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีความเชื่ออย่างไรนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากหากจำเลยที่ 1 กับพวก เชื่อโดยสุจริตว่าพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมส่อไปในทางทุจริต แม้จะเป็นการเข้าใจผิด จำเลยที่ 1 กับพวก ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp