ซื้อรถมือสองมาจากเต็นท์ แต่ถูกเจ้าของมาทวงคืน จะทำยังไงดี?

จากกรณีปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่าสามีภรรยาคู่หนึ่งได้ซื้อรถมือสองจากเต็นท์ ใช้และผ่อนรถมาได้ 5 เดือน ก็ถูกตำรวจพร้อมเจ้าของเดิมเข้าแจ้งถึงบ้าน ว่าได้ซื้อรถที่ถูกขโมยมา ทั้งที่เจ้าตัวยืนยันว่าได้ซื้อมาถูกต้องตามกฎหมาย กรณีจึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคู่สามีภรรยาจะต้องทำอย่างไรต่อไป ต้องคืนรถให้แก่เจ้าของที่มาตามทวงคืนหรือไม่

กรณีดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
โดยหลักกฎหมายทั่วไปแล้ว การที่ผู้โอนจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้รับโอนได้ ผู้โอนย่อมต้องมีกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์นั้นให้แก่ผู้รับโอน เช่นนี้หากผู้โอนไม่มีกรรมสิทธิ์ ย่อมไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้รับโอนได้ และผู้รับโอนก็ไม่สามารถได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน แต่ก็มีข้อยกเว้นของกฎหมายที่ให้ผู้รับโอนมีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือ แม้ผู้โอนจะไม่มีกรรมสิทธิ์ แต่กฎหมายได้ให้สิทธิแก่ผู้โอนสามารถที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ทำให้ผู้รับโอนมีสิทธิดีกว่าผู้โอน ตัวอย่างเช่น การได้ทรัพย์สินมาจากนิติกรรมที่เป็นโมฆียะและภายหลังได้ถูกบอกล้าง สิทธิที่ได้มาย่อมไม่เสียไป แต่ต้องเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หรือในกรณีการได้ทรัพย์สินมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตก็เช่นกัน หากได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ก็ย่อมได้รับความคุ้มครอง แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายก็ตาม

สำหรับในกรณี ผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ก็เป็นข้อยกเว้นของหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเช่นกัน โดยเป็นการขายทอดตลาดโดยบุคคลทั่วไป อันเป็นชุมชนการค้าที่มีสินค้าไว้เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปโดยปกติ ไม่ใช่เป็นการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ความคุ้มครองทั้งสองกรณีแตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าไม่ใช่การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ผู้ซื้อต้องคืนให้เจ้าของถ้าเจ้าของชดใช้ราคาที่ซื้อมา

หากเจ้าของที่แท้จริงชดใช้ราคาให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็ต้องคืนทรัพย์สินให้ และกรณีเช่นนี้ผู้ซื้อก็ยังคงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขายในฐานะที่ถูกรอนสิทธิได้ แม้ผู้ซื้อจะได้รับชดใช้ราคาแล้วก็ตาม

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การที่คู่สามีภรรยาได้ซื้อรถยนต์มากจากเต็นท์ขายรถมือสอง ผ่อนและใช้มาได้ 5 เดือน ก็ถูกเจ้าของที่แท้จริงตามทวงคืน หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ซื้อได้ซื้อมาโดยสุจริต กล่าวคือ ไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้อื่น ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยไม่จำต้องคืนรถให้แก่เจ้าของที่แท้จริง แต่ถ้าเจ้าของที่แท้จริงได้ชดใช้ราคาที่ได้ซื้อมา ก็ต้องคืนรถให้แก่เจ้าของที่แท้จริง ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ซื้อที่จะเรียกให้ผู้ขายชดใช้ค่าเสียหายให้ ในฐานะที่ผู้ซื้อถูกรอนสิทธิ

ข้อกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6500/2540 โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้าประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นพ่อค้ารถยนต์อันถือได้ว่าเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ส่วนการที่จำเลยที่ 1มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์คันพิพาทก็ดี จำเลยที่ 1 มิได้ประกอบการค้ารถยนต์โดยชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีทะเบียนการค้าทะเบียนพาณิชย์และใบอนุญาตค้าของเก่าก็ดี จำเลยที่ 1มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ดี และจำเลยที่ 1 ไม่มีรถยนต์คันพิพาทอยู่ในความครอบครองที่สถานประกอบการของตนในขณะที่ โจทก์ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 1 ก็ดี หาใช่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ในสถานะดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของรถยนต์คันพิพาทภายหลังจากที่โจทก์ได้รับมอบรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 และชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1จนครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งคัดค้านเพียงว่าโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทคันพิพาทที่แท้จริงเป็นจำเลยที่ 2 แต่ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าโจทก์ทราบดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมา ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยุติและรับฟังได้เช่นนั้น โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้าขายของชนิดนั้นโดยสุจริต โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 คือโจทก์ไม่ต้องคืนรถยนต์คันพิพาทแก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ส่วนสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของรถยนต์คันพิพาทตามมาตรา 1336 ซึ่งตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 1332ดังนี้ จำเลยที่ 2 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของรถยนต์คันพิพาทเพื่อติดตามและเอาคืนซึ่งรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ไม่ได้เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะชดใช้ราคาที่โจทก์ซื้อมาให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ปฎิบัติต่อโจทก์ดังกล่าวโจทก์จึง ไม่จำต้องคืนรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และไม่มีความรับผิดต้องชดใช้ราคารถยนต์พิพาทกับค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3396/2529 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 หาได้บัญญัติให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ซื้อนั้นไม่ หากแต่บัญญัติว่าผู้ซื้อไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ดังนี้เมื่อเจ้าของติดตามรถยนต์ดังกล่าวคืน โดยตำรวจยึดรถยนต์นั้นไปและศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระราคาเพราะเหตุที่โจทก์ถูกรอนสิทธินั้นแล้ว โจทก์จึงขอบังคับให้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์อีกไม่ได้ อนึ่งโจทก์ซื้อรถยนต์ดังกล่าวโดยชำระราคาครั้งแรก กับชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 รวม 16 งวด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 134,744 บาท โจทก์ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ 30 งวด ดังนี้โจทก์จะขอให้ชดใช้ราคารถยนต์จำนวน 80,000 บาทและค่าเช่าซื้อรวม 30 งวด เป็นเงิน 112,020 บาท รวมเป็นเงิน 192,020 บาทแก่โจทก์ทั้ง ๆ ที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วเพียง 16 งวดหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระราคารถยนต์คืนเป็นเงิน 139,744 บาทเท่านั้น

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp