
” ซื้อรถเงินผ่อนแต่ยังส่ง ” ซื้อรถยนต์มา 1 คัน โดยซื้อเงินผ่อนแต่ยังผ่อนค่างวดยังไม่หมด จะนำไปขายต่อให้เพื่อน ขายต่อให้ญาติพี่น้อง หรือขายต่อให้บุคคลอื่นได้หรือไม่ และหากขายไปจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร ทาง LAWRAI มีคำตอบมาให้ครับ
รถที่เราซื้อผ่อนหรือภาษาทางกฎหมายเรียกว่าเช่าซื้อนั้น ส่วนใหญ่ผู้เช่าซื้อจะนำรถไปจัดไฟแนนซ์ และจะผ่อนค่างวดกับทางบริษัทไฟแนนซ์ รถจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทไฟแนนซ์ ผู้ซื้อเงินผ่อน (ผู้เช่าซื้อ) ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คงมีเพียงสิทธิครอบครองใช้สอยในรถยนต์เท่านั้น ตราบใดที่ยังผ่อนไม่หมด แต่หากเมื่อผ่อนหมดแล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ก็จะโอนไปเป็นของผู้เช่าซื้อทันที ถึงแม้ยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกก็ตาม เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือทางกฎหมายกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะโอนไปเป็นของผู้เช่าซื้อทันที การจดทะเบียนให้มีชื่อในสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถเป็นเพียงการควบคุมและตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด จึงไม่เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์แต่อย่างใด
แต่ปัญหามีอยู่ว่า หากผ่อนไม่ไหวแล้วขายรถให้เพื่อน ขายต่อให้ญาติพี่น้อง หรือขายต่อให้บุคคลอื่น โดยให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้ผ่อนต่อไป ซึ่งหากบุคคลเหล่านั้นทำตามที่ตกลงกันคือผ่อนค่างวดให้กับบริษัทไฟแนนซ์ต่อไปตรงตามกำหนดก็จะไม่เกิดปัญหา เพราะทางบริษัทไฟแนนซ์ผู้ให้เช่าซื้อก็ได้รับค่างวดตามปกติตามเดิมจึงไม่ทราบว่ามีการซื้อขายรถกันเอง แต่หากผู้ที่ซื้อต่อจากเราไม่ผ่อนต่อหรือผ่อนไม่ตรงระยะเวลาตามกำหนดรายงวด หรือนำรถหนีไป ต่อมาเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาส่งค่างวดจึงไม่ได้ส่ง ทางบริษัทไฟแนนซ์ก็จะติดต่อทวงถามมายังตัวเราผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นคู่สัญญาปัญหาก็เกิดขึ้นย้อนกลับมายังตัวเราผู้เช่าซื้อ เช่น อาจจะถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งตามสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากเราเป็นคู่สัญญา หรืออาจจะถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ตามกฎหมายอาญาได้ หรือหากผู้ที่ซื้อรถต่อจากเราไปนำรถไปกระทำผิดกฎหมายอาจจะนำความเดือดร้อนมายังเราได้ เพราะฉะนั้นหากจะขายรถต่อ ก็จูงมือกันไปที่บริษัทไฟแนนซ์และเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อให้ถูกต้อง ปัญหาทุกอย่างก็จะหมดไป มิฉะนั้นอาจมีความรับผิดทั้งในทางแพ่งตามข้อสัญญา และมีความผิดทางอาญาได้
ป.อ.มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง ป.พ.พ.มาตรา 555 ผู้เช่าจำต้องยอมให้ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าเข้าตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าเป็นครั้งคราว ในเวลาและระยะอันสมควร
ป.พ.พ. มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะตัวคำพิพากษาฎีกาที่นำรถที่เช่าซื้อไปขายให้ผู้อื่นเป็นความผิดฐานยักยอก
ฎีกาที่ 11294/2553 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้เสียหายเพียง 2 งวดแล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลย และจำเลยนำรถที่เช่าซื้อไปตีใช้หนี้ให้แก่ผู้อื่นโดยจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถที่เช่าซื้อยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อ จ. ไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อแต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความร่วมมือ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก
ฎีกาที่ 5640/2548 จำเลยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไป แม้จำเลยจะมีสิทธิใช้สอยและครอบครองรถจักรยานยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่รถจักรยานยนต์ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมประสงค์จะตรวจดู จำเลยจำต้องยอมให้ผู้เช่าซื้อตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้เป็นครั้งคราวในเวลาและระยะอันสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 555 การที่จำเลยไม่สามารถนำรถจักรยานยนต์มาให้โจทก์ร่วมตรวจดูได้ แม้จำเลยได้แสดงเจตนาที่จะชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ร่วม แต่จำเลยกับพวกนำรถไปขายที่ต่างประเทศแล้ว ถือได้ว่าจำเลยเบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่นโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก