
จากกรณีที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่าลูกค้าคนหนึ่ง ได้เลือกซื้อสลากในเว็บไซต์ แต่ลืมโอนเงินทำให้การซื้อขายไม่สำเร็จ เมื่อถึงเวลาประกาศผลสลาก ปรากฏว่ารางวัลที่ 1 จำนวน 24 ล้านบาท ไปตรงกับเลขที่ได้ทำการซื้อไว้แต่ไม่ได้ชำระเงิน ทำให้ผู้ซื้อรายนั้นอดได้รางวัลก้อนใหญ่ไปอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ตามในกรณีดังกล่าว มีข้อน่าพิจารณาทางกฎหมายดังต่อไปนี้
สัญญา เป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเป็นคำเสนอ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเป็นคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน ก็จะเกิดเป็นสัญญา
โดยหลัก สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขาย ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะที่ได้ทำสัญญากัน การชำระค่าสินค้าเป็นเพียงหน้าที่ภายหลังจากที่เกิดสัญญาซื้อขายแล้ว หากผู้ซื้อไม่ชำระราคา ผู้ขายก็มีสิทธิบอกกล่าวทวงถามให้ผู้ซื้อชำระราคาได้ ในขณะเดียวกันหากผู้ซื้อได้ชำระราคาแล้วแต่ผู้ขายไม่ส่งมอบทรัพย์สินซึ่งได้ซื้อขายกันให้ ก็ถือว่าผู้ขายผิดสัญญาซื้อขาย ผู้ซื้อก็มีสิทธิทวงถามให้ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา กล่าวคือ สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขนั้น หมายถึง การที่ผู้ซื้อผู้ขายตกลงกันเอาเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนบางอย่างมากำหนดไว้ว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะโอนก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างสำเร็จ ทำสัญญาซื้อขายทีวีกัน โดยมีข้อตกลงกันว่า ทีวียังเป็นของผู้ขายอยู่จนกว่าผู้ซื้อจะชำระเงินครบถ้วน เช่นนี้ตราบใดที่ผู้ซื้อยังไม่ใช้เงินจนครบจำนวนก็จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทีวีเครื่องนั้น ส่วนสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนเวลานั้น หมายถึง การที่ผู้ซื้อผู้ขายตกลงกันให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ ซื้อขายนั้นโอนไปเมื่อถึงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งได้กำหนดไว้
ดังนั้น เมื่อได้พิจารณาถึงหลักกฎหมายประกอบกับข้อยกเว้นแล้ว เมื่อผู้ซื้อสลาก ได้กดเลือกเลขที่ต้องการซื้อและได้ทำคำสั่งซื้อ จึงเกิดขึ้นเป็นสัญญาซื้อขายสลาก โดยหลักกรรมสิทธิ์ในสลากเลขนั้นโอนไปยังผู้ซื้อทันทีนับแต่ที่ได้ทำคำสั่งซื้อ แต่ปรากฏว่าในการซื้อขายนั้นกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ซื้อต้องชำระเงินก่อนที่คำสั่งซื้อจะสำเร็จ จึงกล่าวได้ว่ากรรมสิทธิ์ในสลากเลขนั้นจะยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคา เมื่อผู้ซื้อไม่ได้ชำระราคาภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในสลากเลขนั้นไป
มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขาย โอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
มาตรา 459 ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4643/2551 โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมีเงื่อนไขว่าหากการชำระเงินตามสัญญายังไม่เสร็จสิ้น เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ระบุในสัญญายังคงเป็นสมบัติของโจทก์ โจทก์มีสิทธินำกลับในสภาพสมบูรณ์ได้ทุกเวลา ดังนี้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 เมื่อจำเลยผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ กรณีไม่ใช่เรื่องโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2551 โจทก์ซื้อรถพิพาทไปจากจำเลย ชำระราคาบางส่วนและรับมอบรถพิพาทไปครอบครองใช้ประโยชน์แล้ว มีข้อตกลงให้โจทก์ต้องชำระราคาบางส่วนที่เหลือให้หมดภายในกำหนด 2 ปี จำเลยจึงจะโอนทะเบียนรถพิพาทให้เป็นชื่อโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยไม่ครบภายในกำหนด 2 ปี จำเลยก็จะไม่โอนทะเบียนรถให้เป็นชื่อโจทก์ เป็นการเอาเงื่อนไขการชำระหนี้เป็นการหน่วงนิติกรรมการซื้อขายไว้มิให้เป็นผลจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้จำเลยครบถ้วนแล้วกรรมสิทธิ์ในรถพิพาทจึงยังไม่โอนไปยังโจทก์ทันทีที่ตกลงซื้อขายรถพิพาทกัน ข้อตกลงซื้อขายรถพิพาทไม่ใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด