ตกลงซื้อล๊อตเตอร์รี่ แต่ยังไม่จ่ายตังค์ และยังไม่ได้รับล๊อตเตอร์รี่ ดันถูกรางวัลที่ 1 ผู้ซื้อ ผู้ขายใครมีสิทธิดีกว่ากัน ???

        ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีมีผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือที่เรียกกันว่า “ล๊อตเตอร์รี่” โดยผู้ซื้อยังไม่ได้จ่ายเงินค่าล๊อตเตอร์รี่  และฝ่ายผู้ขายก็ยังไม่ได้ส่งมอบล๊อตเตอร์รี่  ปรากฏว่าต่อมาล๊อตเตอร์รี่ฉบับดังกล่าวถูกรางวัลที่ 1  เอาแล้วซิครับเกิดเป็นประเด็นแย่งชิง ล๊อตเตอร์รี่ กันแล้วว่าใครระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจะมีสิทธิดีกว่ากันในล๊อตเตอร์รี่ที่ถูกรางวัลที่ 1 ฉบับนั้น 

บริษัท LAWRAI ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายที่อยู่เคียงข้างประชาชนตลอดมาจะมาไขปัญหาดังกล่าวให้ทราบกันครับตามปัญหานี้เป็นเรื่องของการซื้อขาย ซึ่งจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายว่า”กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่เมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน” แสดงว่าเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้วกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายโอนไปยังผู้ซื้อทันที แม้ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ขายหรือยังไม่ได้ชำระราคาก็ตาม เพราะการส่งมอบและการชำระราคาเป็นหนี้ที่ต้องชำระกันในภายหลัง ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีนี้ ผู้ซื้อล๊อตเตอร์รี่ ก็จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในล๊อตเตอร์รี่ และได้รับเงินรางวัลที่ 1 ส่วนราคาของล๊อตเตอร์รี่ ผู้ซื้อก็ต้องจ่ายตามปกติแต่หากข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ขายยังหน่วงกรรมสิทธิ์ในล๊อตเตอร์รี่ โดยยังมีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้รับชำระราคา กรรมสิทธิ์ในล๊อตเตอร์รี่นี้ก็ยังไม่โอนไปเป็นของผู้ซื้อ ล๊อตเตอร์รี่ก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขาย ซึ่งมีหลักกฎหมายว่า “ ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น “

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
มาตรา 459 ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2558 เมื่อผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลาง โดย
ว. ชำระราคารถยนต์ของกลางครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์ของกลางแล้วก่อนวันที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นการซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 กรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตกไปเป็นของ ว. แล้ว นับแต่วันที่ผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลางกัน แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนจากชื่อผู้ร้องเป็นชื่อ ว. การซื้อขายก็สมบูรณ์เพราะรายการจดทะเบียนมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ดังนี้ขณะเกิดเหตุผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2553 โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา 310,000 บาท ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใดจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453, 458
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2550 ตามสัญญาขายห้องชุดระหว่างผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อระบุข้อความว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ หมายเลข 538 – 540, 547 – 549 ของอาคารจอดรถจำนวน 5 คัน
ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,014,333 บาท ถือได้ว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดพร้อมที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 ซึ่งโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2546 ตามสัญญาซื้อขายที่ทำขึ้นระหว่างผู้คัดค้านกับเลยที่ 2
มีข้อความระบุแต่เพียงว่า ผู้คัดค้านได้ขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 320,000 บาทได้รับเงินมัดจำไว้ 170,000 บาท ส่วนที่เหลือ 150,000 บาท จะชำระในวันที่ 29 มกราคม 2541 สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่มีการแบ่งชำระราคาซื้อขายเป็น 2 งวดเท่านั้น ดังนั้น เมื่อทำสัญญาเสร็จแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 458 มิใช่สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 ผู้คัดค้านจึงมิใช่เจ้าของรถยนต์ของกลาง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านได้

ฎีกาที่ 4781/2555 รถยนต์กระบะเป็นของผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าซื้อจากผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะจึงยังเป็นของผู้เสียหายที่ 2 จนกว่าจะมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ในการตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะให้แก่จำเลยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ร่วมจะโอนทะเบียนให้จำเลยต่อเมื่อจำเลยชำระราคารถยนต์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งรวมถึงข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่โจทก์ร่วมยังคงค้างชำระแก่ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ข้อตกลงในการซื้อขายรถยนต์กระบะระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังไม่ตกเป็นของจำเลย ที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถหลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว ถือเป็นเพียงการครอบครองรถยนต์กระบะไว้แทนโจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะที่แท้จริง ภายหลังจากทำข้อตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะดังกล่าวจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ชำระราคารถยนต์กระบะให้ครบถ้วน โจทก์ร่วมแจ้งให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะให้โจทก์ร่วม แต่จำเลยเพิกเฉยและอ้างว่ารถยนต์กระบะสูญหาย การที่จำเลยยังคงครอบครองรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมต่อมาโดยไม่ส่งมอบคืน น่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังปกปิดและซุกซ่อนรถยนต์กระบะโดยมีเจตนาที่จะไม่ส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอก

ฎีกาที่4643 โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมีเงื่อนไขว่าหากการชำระเงินตามสัญญายังไม่เสร็จสิ้น เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ระบุในสัญญายังคงเป็นสมบัติของโจทก์ โจทก์มีสิทธินำกลับในสภาพสมบูรณ์ได้ทุกเวลา ดังนี้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 459

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp