
ได้มีผู้สอบถามเข้ามาใน Application LAWRAI กรณีเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิดแล้วสามารถที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดไปในที่ต่างๆ ได้หรือไม่เพียงใด และต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร กับผู้ที่กระทำความผิดที่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัว บริษัท LAWRAI ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายที่อยู่เคียงข้างประชาชนตลอดมา ขอตอบตามหลักกฎหมายเป็นกลางๆ ดังนี้ กรณีเจ้าพนักงานตำรวจจับผู้ที่กระทำความผิดได้แล้ว ก็ต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่จับโดยทันที และเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับก็ยังมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.แจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้แก่ผู้ถูกจับทราบ
2.ถ้ามีหมายจับให้อ่านหมายจับให้ผู้ถูกจับฟัง
3.มอบสำเนาบันทึกการจับกุมให้แก่ผู้ถูกจับ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 83 ในการจับนั้น เจ้าพนักงาน หรือ ราษฎร ซึ่งทำการจับ ต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่า เขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการ ของพนักงานสอบสวน แห่งท้องที่ที่ถูกจับ พร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่ สามารถนำไปที่ทำการ ของพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบได้ ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการ ของพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็น ก็ให้จับตัวไป ในกรณีที่ เจ้าพนักงาน เป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับ ให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับ มีสิทธิที่จะไม่ให้การ หรือ ให้การ ก็ได้ และ ถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการพิจารณาคดีได้ และ ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบ และ ปรึกษาทนายความ หรือ ผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับ ประสงค์จะแจ้งให้ญาติ หรือ ผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุม ที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวก และ ไม่เป็นการขัดขวางการจับ หรือ การควบคุมผู้ถูกจับ หรือ ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงาน อนุญาตให้ผู้ถูกจับ ดำเนินการได้ ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้น บันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย ถ้า บุคคลซึ่งจะถูกจับ ขัดขวาง หรือ จะขัดขวางการจับ หรือ หลบหนี หรือ พยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับ มีอำนาจใช้วิธี หรือ ป้องกันทั้งหลาย เท่าที่เหมาะสม แก่พฤติการณ์แห่งเรื่อง ในการจับนั้น
มาตรา 84 จ้าพนักงานหรือราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับ ไปยังที่ทำการ ของพนักงานสอบสวนตาม มาตรา ๘๓ โดยทันที และ เมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจของท้องที่ทำการ ของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เจ้าพนักงาน เป็นผู้จับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้น แจ้งข้อกล่าวหา และ รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับ ให้ผู้ถูกจับทราบ ถ้ามีหมายจับ ให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบ และ อ่านให้ฟัง และ มอบสำเนาบันทึกการจับ แก่ผู้ถูกจับนั้น
(๒) ในกรณีที่ราษฎร เป็นผู้จับ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจซึ่งรับมอบตัว บันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ ของผู้ถูกจับ อีกทั้งข้อความ และ พฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้ และ ให้ผู้จับ ลงลายมือชื่อกำกับไว้ เป็นสำคัญ เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และ รายละเอียดแห่งการจับ ให้ผู้ถูกจับทราบ และ แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่า ผู้ถูกจับ มีสิทธิที่จะไม่ให้การ หรือ ให้การ ก็ได้ และ ถ้อยคำของผู้ถูกจับ อาจใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการพิจารณาคดีได้
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้จับมาส่ง แจ้งให้ผู้ถูกจับ ทราบถึงสิทธิตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๗/๑ รวมทั้งจัดให้ผู้ถูกจับ สามารถติดต่อกับญาติ หรือ ผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับกุม และ สถานที่ที่ถูกควบคุมได้ ในโอกาสแรก เมื่อผู้ถูกจับ มาถึงที่ทำการ ของพนักงานสอบสวน ตามวรรคหนึ่ง หรือถ้า กรณีผู้ถูกจับร้องขอ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ เป็นผู้แจ้ง ก็ให้จัดการตามคำร้องขอนั้นโดยเร็ว และ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ บันทึกไว้ ในการนี้ มิให้เรียกค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้ถูกจับ
ในกรณีที่จำเป็น เจ้าพนักงาน หรือ ราษฎร ซึ่งทำการจับ จะจัดการพยาบาล ผู้ถูกจับเสียก่อนนำตัวไปส่ง ตามมาตรานี้ ก็ได้
ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ ในชั้นจับกุม หรือ รับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้า ถ้อยคำนั้น เป็นคำรับสารภาพ ของผู้ถูกจับ ว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้า เป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐาน ในการพิสูจน์ความผิด ของผู้ถูกจับ ได้ต่อเมื่อ ได้มีการแจ้งสิทธิ ตามวรรคหนึ่ง หรือตาม มาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี
คำพิพากษาฎีกาที่ 4277/2555 ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าพนักงานผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยทันที การที่พยานโจทก์กับพวกไม่ได้นำ ฉ. และจำเลยพร้อมของกลางส่งมอบแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุในทันที แต่กลับนำ ฉ. และจำเลยไปตรวจปัสสาวะและสารเสพติด จากนั้นนำไปที่สถานีตำรวจทางหลวง 1 เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร และควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจทางหลวง 1 อีกหลายชั่วโมง จึงได้นำบุคคลทั้งสองไปส่งมอบแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี โดยไม่ปรากฏเหตุผลและความจำเป็นใดๆ ที่ต้องทำเช่นนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ.มาตรา 84 วรรคหนึ่ง