ตำรวจนำรถของกลางไปใช้ส่วนตัวทำได้หรือไม่ ???

กรณีมีข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถจักรยานยนต์ชนแพทย์หญิงจนเสียชีวิตนั้น  และต่อมามีการพูดพาดพิงว่ารถที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขับขี่เป็นรถของกลางในคดี  หากเป็นจริงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีความผิดในการนำรถของกลางมาใช้ส่วนตัวหรือไม่ แต่จะให้ความเห็นตามหลักกฎหมายเป็นการทั่วๆ ไป หากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถของกลางในคดีอาญาไปใช้เป็นการส่วนตัวจะมีอำนาจทำได้หรือไม่  ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักก่อนว่าของกลางคืออะไร  ของกลางคือ วัตถุใด ๆ หรือทรัพย์สิน ซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าพนักงาน โดยอำนาจของกฎหมายหรือโดยหน้าที่ในทางราชการ และได้ยึดไว้เป็นของกลางเพื่อพิสูจน์ในทางคดี หรือเพื่อจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการเช่น อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุในคดีฆ่าผู้อื่น ยาบ้าในคดียาเสพติด รถยนต์ในคดีขับรถประมาท เป็นต้น           

ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถของกลางไปใช้ส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ยึดไว้เป็นของกลาง เห็นได้ว่ารถที่ยึดไว้เป็นของกลางยึดไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานในทางคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจที่จะนำไปใช้ส่วนตัว  หากขืนนำไปใช้ส่วนตัวก็จะมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ และถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นั้นมีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษารถของกลางเบียดบังเอารถนั้นเป็นของตนก็จะเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ได้

กล่าวโดยสรุป รถของกลางไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์หากเป็นรถของกลางแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถนำไปใช้ส่วนตัวได้ หากนำไปใช้ก็จะมีความความผิดมีโทษถึงขั้นจำคุก ขณะเดียวกันรถที่ถูกยึดเป็นของกลางในบางกรณีหากเป็นรถที่ถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด เช่นในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แข่งรถในทาง ศาลก็จะสั่งริบและตกเป็นของแผ่นดิน

ท่านที่สนใจ ศึกษาเพิ่มเติมได้ตามกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2534 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สายตรวจเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจยึดเลื่อยยนต์ เป็นของกลางและมอบให้นายดาบตำรวจ ส. เป็นผู้เก็บรักษาไว้แล้ว จำเลยที่ 1 หาได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเลื่อยยนต์ ของกลางโดยตรงไม่ แม้จำเลยที่ 1จะเป็นผู้นำเลื่อยยนต์ ดังกล่าวไปขาย ก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามและสายตรวจซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งของต่าง ๆ ในบริเวณสถานีตำรวจ ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งโดยชอบให้ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางที่สถานีตำรวจด้วย การที่จำเลยที่ 1 อาศัยโอกาสดังกล่าวลักเลื่อยยนต์ ของกลางซึ่งอยู่ในความดูแลตามหน้าที่ไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 744/2515 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ใช้และเก็บรักษาปืนคาร์บิน แมกกาซีน และกระสุนปืน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการตำรวจเพื่อใช้ในการตรวจตราปราบปรามโจรผู้ร้าย จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ใช้และรักษาปืนคาร์บิน กระสุนปืน และแมกกาซีน ที่จำเลยได้รับมอบหมายจำเลยเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp