ถูกข่มขืนในห้องพักในคอนโด “ เมื่อตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุ ”ทำอะไรได้บ้าง

รูปจาก thethaiger.com

กรณีคนร้ายบุกเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องของผู้เสียหายภายในคอนโดแห่งหนึ่ง และเมื่อผู้เสียหายแจ้งตำรวจ และเมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุภายใน 5 นาที แต่ถูก รปภ.ห้ามตำรวจไม่ให้ขึ้นไปห้องที่เกิดเหตุ มีคำถามว่า

1.รปภ.ทำได้หรือไม่
2.ตำรวจทำอะไรได้บ้าง
LAWRAI มีคำตอบให้ครับ
ตามหลักกฎหมายในการเข้าค้นในที่รโหฐานจะต้องมีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่มีเหตุอื่นตามกฎหมายแม้ไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาลก็เข้าไปในที่รโหฐานได้ นอกจากนี้ตำรวจที่มีหมายค้นหรือที่ต้องเข้าไปในที่รโหฐานตามเหตุอื่นตามกฎหมายสามารถที่จะสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่รโหฐานให้ความสะดวกตามสมควรในการเข้าไปตรวจค้นได้ หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่กระทำตามหรือขัดขวางก็จะมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากหลักกฎหมายข้างต้น กรณีมีการแจ้งเหตุว่ามีคนร้ายข่มขืนหญิงในห้องภายในคอนโดซึ่งถือว่าเป็นที่รโหฐานและมีการแจ้งภายในทันทีที่เกิดเหตุถือได้ว่าเป็นเหตุอื่นตามกฎหมายที่ไม่สามารถไปขอหมายค้นได้ทัน ตำรวจสามารถเข้าตรวจค้นได้ และสามารถสั่งให้ รปภ.อำนวยความสะดวกโดยให้เปิดเข้าไปในคอนโดเพื่อไปยังห้องที่เกิดเหตุได้ กรณีตามข่าวที่ รปภ.ไม่ให้ตำรวจขึ้นไปยังห้องที่เกิดเหตุนั้นอาจจะเข้าข่ายกรณีฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานและขัดขียการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานได้

สรุป 1.รปภ.ไม่สามารถที่จะห้ามตำรวจเข้าไปตรวจค้นยังห้องที่เกิดเหตุได้ หากขัดขวางจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย
2.ตำรวจสามารถเข้าตรวจค้นได้โดยไม่ต้องขออนุญาต รปภ.และไม่ต้องมีหมายค้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 92 ห้ามมิให้ ค้นในที่รโหฐาน โดยไม่มี หมายค้น หรือ คำสั่งของศาล เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจเป็นผู้ค้น และ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อ มีเสียงร้องให้ช่วย มาจากข้างในที่รโหฐาน หรือ มีเสียง หรือ พฤติการณ์อื่นใด อันแสดงได้ว่า มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ในที่รโหฐานนั้น
(๒) เมื่อ ปรากฏความผิดซึ่งหน้า กำลังกระทำลง ในที่รโหฐาน
(๓) เมื่อ บุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับ หนีเข้าไป หรือ มีเหตุ อันแน่นแฟ้น ควรสงสัยว่า ได้เข้าไปซุกซ่อนตัว อยู่ในที่รโหฐานนั้น
(๔) เมื่อ มีพยานหลักฐานตามสมควรว่า สิ่งของ ที่มีไว้ เป็นความผิด หรือ ได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือ มีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือ อาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ การกระทำความผิด ได้ซ่อน หรือ อยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้า กว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งของนั้น จะถูกโยกย้าย หรือ ทำลายเสียก่อน
(๕) เมื่อ ที่รโหฐานนั้น ผู้จะต้องถูกจับ เป็นเจ้าบ้าน และ การจับนั้น มีหมายจับ หรือ จับตาม มาตรา ๗๘
การใช้อำนาจตาม (๔) ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ ผู้ค้น ส่งมอบสำเนาบันทึกการตรวจค้น และ บัญชีทรัพย์ ที่ได้จากการตรวจค้น รวมทั้งจัดทำบันทึก แสดงเหตุผลที่ทำให้สามารถเข้าค้นได้ เป็นหนังสือ ให้ไว้แก่ผู้ครอบครองสถานที่ที่ถูกตรวจค้น แต่ถ้า ไม่มีผู้ครอบครอง อยู่ ณ ที่นั้น ให้ส่งมอบ หนังสือดังกล่าว แก่บุคคลเช่นว่านั้น ในทันที ที่กระทำได้ และ รีบรายงานเหตุผล และ ผลการตรวจค้น เป็นหนังสือ ต่อผู้บังคับบัญชา เหนือขึ้นไป

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 94 ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ทำการค้นในที่รโหฐาน สั่งเจ้าของหรือคนอยู่ในนั้นหรือผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้น ให้ยอมให้เข้าไปโดยมิหวงห้าม อีกทั้งให้ความสะดวกตามสมควรทุกประการในอันที่จะจัดการตามหมาย ทั้งนี้ให้พนักงานผู้นั้นแสดงหมายหรือถ้าค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายก็ให้แสดงนามและตำแหน่ง ถ้าบุคคลดังกล่าวในวรรคต้นมิยอมให้เข้าไป เจ้าพนักงานมีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปในกรณีจำเป็นจะเปิดหรือทำลายประตูบ้าน ประตูเรือน หน้าต่าง รั้วหรือสิ่งกีดขวางอย่างอื่นทำนองเดียวกันนั้นก็ได้

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp