
กรณีตามกระแสข่าวที่มีดาราสาวชื่อดังได้ถูกฟ้องในคดีแชร์ลูกโซ่ในความผิดฐาน หลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ , ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีผู้เสียหายกว่า 9,000 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าผู้เสียหายก็อยากได้เงินคืน อยากนำตัวคนโกงมาลงโทษตามกฎหมาย แต่ด้วยประเด็นดังกล่าวก็มีข้อน่าพิจารณาว่าแม้เหยื่อจะถูกหลอกให้ลงทุนจนเสียเงินเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะไม่มีอำนาจนำคดีอาญามาฟ้องต่อศาลได้ เหตุผลจะเป็นไปอย่างไร สามารถติดตามกันได้เลยค่ะ
ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
การที่ผู้กระทำได้หลอกลวงผู้เสียหายให้นำเงินมาลงทุน เพื่อแลกกับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง ทั้งๆที่ความจริงแล้วผู้กระทำไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถูกหลอกแต่อย่างใด จนทำให้ผู้เสียหายนำเงินไปลงทุน จึงเป็นการที่ผู้กระทำมีเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้ทราบและโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม ผู้นั้นกระทำผิดฐานฉ้อโกง และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน ก็อาจมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้กระทำจะมีความผิดฐานฉ้อโกงหรือฉ้อโกงประชาชนจริง แต่การมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องพิจารณา เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้วางหลักว่า ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง เรียกอีกอย่างว่า ผู้เสียหายที่แท้จริง รวมทั้งบุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ก็ถือว่าเป็นผู้เสียหายด้วย
การที่จะเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง อันจะส่งผลให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้นั้น จะต้องปรากฏว่า มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น มีสภาพบุคคลในขณะที่ความผิดเกิดขึ้น ต้องเป็นผู้เสียหายโดยพฤตินัย คือ ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น และจะต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยด้วย กล่าวคือ ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ได้ยินยอมให้มีการกระทำความผิด รวมทั้งต้องไม่มีเจตนากระทำในสิ่งที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
จากการพิจารณาองค์ประกอบของการเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับข้อเท็จจริงพบว่า มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นจริง กล่าวคือ ผู้กระทำได้มีเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้ทราบและโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม ผู้นั้นกระทำผิดฐานฉ้อโกง โดยในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ผู้เสียหายมีสภาพบุคคล ทั้งยังได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด เพราะต้องสูญเสียเงินเพื่อนำไปลงทุน จึงเป็นผู้เสียหายโดยพฤตินัย
อย่างไรก็ตาม หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูง เช่น เพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 100 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ลงทุน ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้เสียหายจะได้รับล้วนต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4(1) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ถือว่า เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายรับข้อเสนอดังกล่าวโดยมีเจตนาร้ายมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถือได้ว่าผู้เสียหายมีเจตนากระทำในสิ่งที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ และพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2563
ดังนั้น แม้จะมีการหลอกลวงให้ลงทุนเกิดขึ้น อันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงผิดปกติ ถึงขนาดเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้เสียหายก็อาจจะไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ เช่นนี้จึงต้องระลึกไว้เสมอเลยว่า ไม่มีการลงทุนที่ไหน ที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงมากในระยะเวลาสั้น ๆ อย่าให้ความโลภเข้าครอบงำ เพราะอาจจะนำมาซึ่งการเสียหายเป็นจำนวนมากและก็อาจไม่ได้เงินกลับคืนมา
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 343 วรรคแรก ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2(4) ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 ,5 และ 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282 / 2563 วินิจฉัยว่า “ ………. แม้ผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยทั้งสามจึงมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสามเพื่อให้จำเลยทั้งสามนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงโดยจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมลงทุนในหลายลักษณะคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 72 , 144 , 192 ,240,288 และ 432 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ผู้ร่วมทุนให้จำเลยทั้งสามกู้ยืมจะมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในทุก 2 ถึง 3 วันหรือทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจะได้รับล้วนต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4(1) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ถือว่า เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายทั้งสามสิบสองรับข้อเสนอดังกล่าวโดยมีเจตนาร้ายมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ และพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควาอาญา มาตรา 2(4)(7) และมาตรา 120 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง มานั้นชอบแล้ว