
ทนายความของจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา โดยให้เปลี่ยนผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อ้างว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนดำเนินกระบวนพิจารณาไม่สุจริตและไม่ยุติธรรมทำให้จำเลยเสียเปรียบ เมื่อพิจารณาจากคำร้องแล้วเข้าข่ายมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการกระทำเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลลงโทษจำคุก และมีคำสั่งถอนชื่อออกจากบัญชีทนายความขอแรง ทนายความซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งเนื่องจากเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ
มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำพิพากษาฎีกาดังนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 30 ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความฝ่ายหนึ่ง หรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรม และรวดเร็ว อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญ หรือในทางประวิงให้ชักข้า หรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร
มาตรา 31 ผู้ใด กระทำการอย่างใดๆ ดั่งกล่าว ต่อไปนี้ ให้ถือว่า กระทำผิด ฐานละเมิดอำนาจศาล
(๑) ขัดขืนไม่ปฏิบัติ ตาม ข้อกำหนด ของ ศาล ตาม มาตราก่อน อันว่าด้วย การ
รักษา ความเรียบร้อย หรือ ประพฤติตน ไม่เรียบร้อย ใน บริเวณศาล …
มาตรา 33 ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
(ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ …
คำพิพากษาฎีกาที่ 1601/2563 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนชื่อผู้ถูกกล่าวหาจากบัญชีทนายความขอแรงของศาลชั้นต้นเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ ซึ่งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่จะก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223