ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างสมณเพศ /สึกแล้ว/ จะตกเป็นของใคร ???

สำหรับพระมหาไพรวัลย์ เรียกได้ว่า คนจะดังไม่ว่าจะเป็นพระ หรือเป็นฆรวาส ทำอะไรก็เป็นกระแสสังคมไปหมด แม้แต่ท่านจะสึกก็ยังไม่วายที่มีกระแส ข่าวว่า ท่านบวช ๑๘ พรรษา มีเงินมากถึง ๓๑๘ ล้านบาท ถ้าเป็นจริง คงจะมีคนไปบวชอีกเยอะครับ จากข่าวดังกล่าว ในโลกโซเซียลว่า มีคำถามว่า เงินหรือทรัพย์สิน ที่ท่านได้มาระหว่างเป็นสมณเพศนั้น เมื่อท่านสึกแล้ว เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มานั้น จะตกเป็นของใคร
LAWRAI มีคำตอบครับ

แต่ก่อนจำตอบคำถามดังกล่าว ขอทำความเข้าใจ ในเรื่องทรัพย์สินของพระในเรื่องอื่นด้วย ดังนี้

1. ทรัพย์สินที่มีก่อนบวช ในกรณีนี้ จะตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุ ซึ่งหากมรณภาพ ก็จะตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทต่อไป

2. ทรัพย์สินที่มี หรือได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศ ไม่ว่าจะได้มาจากญาติโยมศรัทธาถวายเงินทองให้ก็ตาม ในกรณีนี้ ก็จะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุ เมื่อเป็นสินตัวของพระภิกษุ เมื่อสึกทรัพย์สินนั้น ก็ยังเป็นพระที่สึกเป็นฆราวาสนั้นอยู่

3. ทรัพย์สินที่มีหรือได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศ ไม่ว่าจะได้มาจากญาติโยมศรัทธาถวายเงินทองให้ก็ตาม ในกรณีนี้ ก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุ แต่เมื่อมรณภาพทรัพย์สินนั้น จะตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนา(วัดที่จำพรรษา)ของพระภิกษุ ทันที

4. ทรัพย์สินที่มีหรือได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศ ไม่ว่าจะได้มาจากญาติโยมศรัทธาถวายเงินทองให้ก็ตาม แต่หากก่อนมรณภาพ พระภิกษุได้ทำพินัยกรรมยกให้ใคร หรือได้จำหน่ายจ่ายโอนไปก่อนที่จะมรณภาพ ในกรณีนี้ ทรัพย์สินก็จะไม่ตกเป็นของวัด แต่จะตกแก่ผู้รับพินัยกรรม หรือเป็นของบุคลที่ได้รับไปจากการจำหน่ายจ่ายโอนของพระภิกษุนั้น

จากกรณีทั้ง 4 นั้นจะเห็นได้ว่า ในกรณีของพระมหาไพรวัลย์ นั้นจะอยู่ใน กรณีที่ 2 ก็คือ เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นสมณเพศ แม้จะสึกแล้วก็ยังเป็นของพระมหาไพรวัลย์ หรือนายไพรวัลย์ ไม่ตกเป็นของวัด ครับ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่ พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

คำพิพากษาฎีกาที่ 1064/2532 บิดามารดายกที่นาให้แก่พระภิกษุ ข. ภายหลังที่พระภิกษุ ข.บวชเป็นพระภิกษุเมื่อพระภิกษุ ข. ขายที่นาแปลงดังกล่าวและนำเงินที่ขายได้ไปฝากธนาคาร เงินที่นำไปฝากธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศเมื่อพระภิกษุ ข. ถึงแก่มรณภาพเงินฝากดังกล่าวย่อมตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ ข

คำพิพากษาฎีกาที่ 1265/2495 พระภิกษุถึงมรณะภาพในขณะที่เป็นพระภิกษุอยู่ โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร มรดกของพระภิกษุนั้นย่อมตกได้แก่วัดที่พระภิกษุนั้นอยู่ แม้ทายาทจะครอบครองที่ดินมรดกของพระภิกษุนั้นเกิน 10 ปี นับแต่วันมรณภาพทายาทนั้นก็จะเอาที่ดินมรดกนั้นไม่ได้ เพราะที่ดินมรดกนั้นเป็นของวัด จะใช้อายุความ 10 ปียันวัดให้เสียสิทธิหาได้ไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 903/2536 ก่อนพระภิกษุ ช.มรณะภาพ พระภิกษุ ช.ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทที่เช่าซื้อมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ แต่พระภิกษุ ช.ได้เช่าซื้อที่ดินพิพาทและชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนแล้วก่อนที่มาบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งหากผู้ให้เช่าซื้อไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้ พระภิกษุ ช.ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อโอนที่ดินพิพาทได้อันเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่พระภิกษุ ช. มีก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุจึงต้องถือว่าพระภิกษุ ช.ได้ที่ดินพิพาทมาแล้วก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุ การจดทะเบียนการได้มาในภายหลังเป็นแต่เพียงทำให้การได้มาบริบูรณ์ ตาม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก เท่านั้น ฉะนั้นเมื่อที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินที่พระภิกษุ ช.ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนของพระภิกษุ ช. จึงไม่ตกเป็นสมบัติของวัดตามมาตรา 1623 หากแต่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่บรรดาทายาทของพระภิกษุ ช.

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp