ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ โดยระบุในพินัยกรรมว่าห้ามแบ่งแยกทรัพย์ที่ยกให้ ข้อกำหนดส่วนนี้บังคับได้หรือไม่ ???

ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้กับบุตรทุกคนมีผลใช้ได้ แต่พินัยกรรมในส่วนที่มิให้แบ่งแยกทรัพย์ใช้บังคับไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย เพราะผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์มีสิทธิ์ใช้สอยทรัพย์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์

กฎหมายที่เกี่ยวข้องและคำพิพากษาศาลฎีกา
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และ มีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วย กฎหมาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้ สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2502 พินัยกรรมที่มีข้อความเป็นคำสั่งกำหนดให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรชายทุกคนนั้น มีผลใช้ได้ตามกฎหมายส่วนข้อห้ามที่กำหนดไม่ให้แบ่งแยกทรัพย์นี้ออกไปเลยเป็น อันขาดนั้น ขัดต่อกฎหมายใช้บังคับไม่ได้ เพราะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ย่อมมีสิทธิใช้สอย จำหน่ายและขอแบ่งทรัพย์นั้นได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และ 1363 พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เสียไปทั้งฉบับ

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp