
ทำไมอัยการไม่ลงมาสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน?
จากการที่มีข่าวการสอบสวนคดีดังที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม ประชาชนต่างออกมาแสดงความเห็นกันว่าทำไมอัยการถึงไม่ลงมาสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ทำไมให้ตำรวจสอบสวนเอง ถ้าอัยการมาสอบสวนด้วยตัวเอง คดีก็คงเสร็จไปนานแล้ว…
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องกระบวนการสอบสวนและการสั่งฟ้องคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีอำนาจในการสอบสวนทั้งคู่ เพียงแต่มีอำนาจหน้าที่แยกออกจากกัน กล่าวคือ
พนักงานสอบสวนมีดุลพินิจในการรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับความผิดและเพื่อให้รู้ตัวผู้กระทำความผิดและสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่เป็นบทบังคับว่าพนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเมื่อมีบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ ขอเพียงแต่ได้ความว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนถึงการกระทำความผิด ก็ถือว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้ว แต่ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดถ้าปรากฏว่าเป็นความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่าสูงไม่เกิน 3 ปี งดการสอบสวนและบันทึกเหตุ จากนั้นให้ส่งบันทึกพร้อมสำนวนไปให้พนักงานอัยการ แต่ถ้าอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ให้ส่งสำนวนไปยังอัยการ ถ้าอัยการสั่งให้งดการสอบสวน หรือให้สอบสวนต่อไปก็ให้ดำเนินการตามนั้น
หากเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้ว และรู้ตัวผู้กระทำความผิด ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ควรสั่งฟ้อง แล้วส่งสำนวนและความเห็นนั้นไปยังพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว ถ้าอัยการมีความเห็นว่าควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าอัยการมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม อัยการมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควรให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่แยกต่างหากจากพนักงานอัยการ เพื่อให้เป็นการคานอำนาจซึ่งกันและกัน โดยพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา ในขณะที่พนักงานอัยการจะทำหน้าที่กลั่นกรองพยานหลักฐานจากการสอบสวนในสำนวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้รวบรวมเสนอมาให้พิจารณา และหากเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ อัยการมีอำนาจเฉพาะการสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือให้พนักงานสอบสวนส่งพยานมาให้สอบปากคำเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในกรณีที่ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กรณีดังกล่าวพนักงานอัยการจึงจะมีหน้าที่มาร่วมทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพ แพทย์ และปลัดอำเภอ
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้
มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
มาตรา 143 เมื่อได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวนดั่งกล่าวในมาตราก่อน ให้พนักงานอัยการปฏิบัติดั่งต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องต่อไป
(2) ในกรณีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ออกคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ถ้าไม่เห็นชอบด้วยก็ให้สั่งไม่ฟ้องในกรณีหนึ่งกรณีใดข้างต้น พนักงานอัยการมีอำนาจ
(ก) สั่งตามที่เห็นควร ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม หรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถามเพื่อสั่งต่อไป
(ข) วินิจฉัยว่าควรปล่อยผู้ต้องหา ปล่อยชั่วคราว ควบคุมไว้ หรือขอให้ศาลขังแล้วแต่กรณี และจัดการหรือสั่งการให้เป็นไปตามนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3110/2551 การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควร เมื่อโจทก์เห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนนี้มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลย การที่โจทก์ไม่สั่งให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำเด็กหญิง ส. และเด็กหญิง น. ไว้เป็นพยานและนำมาเบิกความต่อศาลจึงไม่เป็นพิรุธแต่ประการใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4396/2528 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและพระราชบัญญัติศุลกากร เดิมพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดา ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุเป็นผู้สอบสวน ต่อมากรมตำรวจได้แต่งตั้งให้ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามทำการสอบสวนคดีนี้แต่ฝ่ายเดียว พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงติดต่อขอรับสำนวนการสอบสวน จากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดาหลายครั้ง แต่ไม่สามารถรับสำนวนการสอบสวนมาได้ ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดากลับส่งสำนวนการสอบสวนไปยัง พนักงานอัยการโดยมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงติดต่อขอสำนวนการสอบสวนคืนจากพนักงานอัยการ ซึ่งขณะนั้นยังมิได้มีคำสั่งให้ฟ้องหรือไม่ฟ้อง จำเลยที่ 1 พนักงานอัยการได้คืนสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้แก่พนักงานสอบสวนกองปราบปรามทำการสอบสวนต่อไป โดยสอบ บุคคลอื่นเป็นผู้ต้องหาอีกหลายคนซึ่งมีจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วยภายหลังพนักงานอัยการได้แนะนำให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามคืนสำนวนการสอบสวน และต่อมามีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามสอบสวนเพิ่มเติมทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้น กรณีเช่นนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามยังมีอำนาจทำการสอบสวนคดีนี้อยู่การสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าว หาขัดกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139ถึง มาตรา 143 ไม่ การสอบสวนของ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงชอบด้วยกฎหมาย และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่1 และที่ 2 ได้