ที่ดินราชพัสดุ แตกต่างจาก ที่ดินในเขตป่าสงวนอย่างไร

จากกรณีมีข่าวว่าสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งเข้าข่ายว่าถูกสร้างอยู่ในที่ราชพัสดุ จึงเกิดคำถามว่าการใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งคาบเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินราชพัสดุนั้นทำได้หรือไม่ แล้วที่ดินราชพัสดุมีความแตกต่างจากที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติอย่างไร

ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ ที่ดินราชพัสดุ หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด และที่ดินสงวนหรือหวงห้ามที่ใช้ในประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ รวมถึงที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของราชการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามไม่รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน อสังหาริมทรัพย์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอสังหาริมทรัพย์ขององค์การมหาชน ซึ่งได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือโดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากรายได้หรือทรัพย์สินขององค์การมหาชนนั้น โดยไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

สำหรับที่ดินราชพัสดุนั้น มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และกรมธนารักษ์มีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ผู้ที่มีสิทธิขอใช้ที่ดินราชพัสดุ ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ องค์กรอื่นของรัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิใช้ที่ราชพัสดุได้ตรามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะไม่มีสิทธิใช้ได้เลย เนื่องจากกฎหมายได้บัญญัติให้ ถึงแม้ว่าประชาชนจะไม่มีสิทธิขอใช้ที่ดินราชพัสดุ แต่หากมีที่ดินราชพัสดุที่สงวนไว้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทางราชการ ก็สามารถนำมาจัดให้เช่าหรือจัดทำสัญญาต่างตอบแทนอื่นเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งการให้เช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัย เพื่อประกอบเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์อย่างอื่น และการให้เช่าอาคารราชพัสดุ ส่วนการทำสัญญาต่างตอบแทนอื่นนอกเหนือจากการจัดให้เช่า เช่น ท่าเทียบเรือ ท่าอากาศยาน ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้าขอทำประโยชน์ ต้องขออนุญาตกรมธนารักษ์ก่อน หากได้รับความยินยอมจึงจะสามารถทำสัญญาเช่าได้

บทลงโทษของผู้ที่เข้าไปในที่ราชพัสดุเพื่อยึดถือหรือครอบครองโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ให้เสื่อมสภาพแก่ที่ราชพัสดุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ในกรณีสถานปฏิบัติธรรมที่เข้าข่ายว่าอยู่ในที่ดินราชพัสดุ ก็ต้องติดตามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วได้ทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์แล้วหรือไม่ หากได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นการบุกรุกที่ราชพัสดุอันจะเป็นความผิดต่อกฎหมาย

ส่วนป่าสงวนแห่งชาติ หมายถึง ป่าที่ประกาศไว้เพื่อสงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีหลักเขตและป้ายเครื่องหมายเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยหากเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีข้อห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่จะเป็นการทำไม้/เก็บหาของป่า ที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือประกาศอนุญาตไว้ รวมถึงการเข้าทำประโยชน์ อยู่อาศัย การเข้าศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

หากฝ่าฝืนข้อห้าม มีบทลงโทษจำคุก 4 – 20 ปี และปรับ 200,000 – 2,000,000 บาท และศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำผิด/คนงาน/ผู้รับจ้าง/ผู้แทน/บริวารของผู้กระทำผิดออกจากเขตป่าสงวน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และนำสิ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมสภาพแก่ป่าสงวนแห่งชาติออกจากป่าสงวนฯ ภายในเวลาที่กำหนด

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังนี้
พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7742/2548
หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงระบุว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และ 5 จึงเป็นเพียงทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) (3) ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เมื่อเทศบาลตำบลน้ำพองซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาท มีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดิน จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลน้ำพองโดยปกติสุข เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758 – 1759/2548 ทางราชการได้สงวนที่ดินพิพาทไว้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และการที่อธิบดีของโจทก์ที่ 2 เคยมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างอาคารและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทแสดงว่าทางราชการได้หวงกันไว้ตลอดมา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304(3) ต้องห้ามมิให้โอนเว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ารับโอนมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทก่อนโจทก์ที่ 2 ประกาศกำหนดให้เป็นเขตโบราณสถานก็ไม่ทำให้สภาพที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้กับทางราชการได้ เมื่อที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและประกาศเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ย่อมอยู่ในความดูแลของโจทก์ที่ 2 และการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่อยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ที่ 1 ด้วย โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยที่ 2 กับบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2563 เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคท้าย เป็นมาตรการที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้ผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ต้องออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยทั้งสองต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด อันทำให้รัฐได้รับคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การที่ผู้ร้องจะมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษได้นั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ เมื่อได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพียงแต่ไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยผู้ร้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากอธิบดี ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2661/2561 เมื่อพิจารณาคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ให้ความหมายไว้ว่า ของป่าหมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าเป็นต้นว่า (1) ไม้ฟืน ถ่าน เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชันไม้ และยางไม้ แสดงว่าของป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มีความหมายรวมทั้งหมดไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์ปลูกสร้างขึ้น หากเกิดขึ้นและมีอยู่ในป่าแล้ว ล้วนแต่เป็นของป่าทั้งสิ้น ซึ่งจะแตกต่างจากคำนิยามของคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (7) ซึ่งให้ความหมายว่า ของป่า หมายความว่า บรรดาของที่เกิดขึ้นหรือมีขึ้นในป่าตามธรรมชาติ จึงหมายถึงเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในป่าแห่งนั้น ส่วนสิ่งที่ปลูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ไม่อาจเป็นของป่าไปได้ ความหมายของคำว่า ของป่า ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าว จึงแตกต่างกัน ต้นปาล์มน้ำมันที่บริษัท ว. ปลูกขึ้นในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุตั้งแต่ขณะได้รับอนุญาตจากรัฐ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ย่อมไม่อาจเป็นของป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ได้ แต่เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวต้องถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 นั้นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปเก็บเอาผลปาล์มน้ำมัน น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่ารับร่อ และป่าสลุย ที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 แล้ว

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp