นำที่ดิน ส.ป.ก.ไปขายได้หรือไม่ ???

ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับที่ดิน ส.ป.ก.ก่อนครับว่าหมายถึงอย่างไร ใครบ้างที่จะเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก.

ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือที่ดินที่มีเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518

ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก.

ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มีอยู่ 3 ประเภท คือ

1. เกษตรกร

เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่นนั้น

2. ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

– ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี

– จบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า

– เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

3. สถาบันเกษตรกร

– กลุ่มเกษตรกร

– สหกรณ์การเกษตร

– ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

ที่ดิน ส.ป.ก. ซื้อขายกันได้หรือไม่

ที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถซื้อขายได้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ตามมาตรา 39 กำหนดไว้ว่าเป็นที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

หากมีการซื้อขายกันสัญญาซื้อขายก็จะตกเป็นโมฆะเพราะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย

ท่านที่สนใจ ศึกษาเพิ่มเติมได้ตามกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518

มาตรา 39 ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็น โมฆะ

ฎีกาที่ 5773/2534     การซื้อขายที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินฯ มาตรา 39 จึงเป็นโมฆะกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 113  (ปัจจุบันมาตรา 150)

ตาม พ.ร.บ. ปฏิรูปที่ดินฯ มาตรา 19 (7) และ 37 ผู้ที่จะเข้าอยู่ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้  ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน  และห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานฯ ได้มา  ตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินฯ ดังนั้น ในเขตปฏิรูปที่ดินบุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองจากบุคคลที่ได้รับจัดสรรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ในเขตปฎิรูปเกิน 1 ปี   ก็ไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฎิรูป การที่จำเลยเข้าไปไถข้าวฟ่างที่โจทก์ปลูกไว้ย่อมเป็นการละเมิด ส่วนค่าเสียหายจำเลยมิได้โต้แย้งว่าศาลอุทธรณ์ภาค2 กำหนดมากน้อยแต่ประการใด   จำเลยจึงต้องรับผิดค่าเสียหายต่อโจทก์ตามจำนวนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp