
กรณีปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่ามีชายผู้หนึ่ง ได้เข้าไปชกต่อย ทำร้ายเลขาธิการของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขณะเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเอาผิดศิลปินซึ่งได้พูดวิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากที่ได้มีคลิปและข่าวดังกล่าวออกไป มีชาวโลกออนไลน์เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก พร้อมกับขอเลขที่บัญชี เพื่อขอบริจาคช่วยเหลือค่าประกันตัว จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้ที่โอนเงินช่วยเหลือชายผู้นั้น มีความผิดหรือไม่
การที่ชายคนนั้นเข้าไปชกต่อยเลขาธิการฯ เข้าข่ายมีความผิดฐาน ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจจะมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส แล้วแต่กรณี ขึ้นอยู่กับเจตนาในการกระทำ พฤติการณ์ประกอบการกระทำ และผลของการกระทำ โดยต้องนำมาพิจารณาประกอบกัน ส่วนผู้ที่โอนเงินบริจาคเป็นค่าประกันตัวให้กับชายผู้นั้น ภายหลังการเข้าไปทำร้าย จะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่อย่างไรนั้น ต้องพิจารณาข้อกฎหมายดังต่อไปนี้
ตัวการ เกิดขึ้นในกรณีเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา โดยมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ได้มีเจตนาร่วมกันและกระทำร่วมกัน ในขณะกระทำความผิด การมีการกระทำร่วมกัน อาจเป็นในลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำ กล่าวคือ ผู้ร่วมกระทำคนหนึ่ง ลงมือกระทำการอันเป็นความผิดในตัวเองโดยสมบูรณ์แล้ว ในขณะที่ผู้ร่วมกระทำอีกคนทำหน้าที่อย่างอื่นๆ ที่อาจไม่เป็นความผิดในตัวเองก็ได้ เช่น คอยดูต้นทางอยู่ใกล้ๆกับผู้ลงมือ แต่หากได้ความว่าอยู่ไกลออกไปมาก ย่อมไม่ใช่ตัวการ เป็นเพียงผู้สนับสนุน หรืออาจเป็นในลักษณะของการอยู่ร่วมหรืออยู่ใกล้เคยงที่เกิดเหตุ ในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ลงมือได้ทันทีหากมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การบริจาคเงินช่วยเหลือชายที่เข้าไปชกต่อยผู้อื่น ไม่ใช่กรณีที่มีเจตนาร่วมกันและมีการกระทำร่วมกันในขณะกระทำความผิด เช่นนี้ผู้บริจาคเงินจึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการในความผิดที่ชายคนนั้นในกระทำลง
ผู้ใช้ คือ ผู้ที่กระทำการอันเป็นการก่อเจตนาให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยการก่อเจตนาอาจเกิดได้จากหลายวิธีการ เช่น การใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือโดยวิธีอื่นใด เช่น การหลอกลวง ก็เป็นผู้ใช้ได้
กรณีตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผู้บริจาคเงินไม่ได้กระทำการก่อเจตนาให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยการจ้างวานหรือยุยงส่งเสริม แต่เป็นการบริจาคเงินให้ภายหลังจาการกระทำความผิด กรณีจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
อย่างไรก็ตามถ้าได้ความว่า มีการจ้างวานหรือยุยงส่งเสริมอันเป็นการก่อเจตนาให้ชายผู้นั้นเข้าไปชกต่อย แม้จะจ่ายเงินภายหลังการกระทำความผิด ก็อาจเข้าข่ายมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ในความผิดตามที่ชายคนนั้นได้กระทำ
ผู้สนับสนุน คือบุคคลที่กระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด โดยช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก ก่อนหรือขณะ กระทำความผิด ไม่สนใจว่าผู้ลงมือจะรู้หรือไม่รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น ขอแค่ผู้ลงมือได้ประโยชน์จากการช่วยเหลือไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การที่ผู้บริจาคโอนเงินช่วยเหลือค่าประกันตัวให้กับผู้กระทำความผิด ภายหลังจากที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำความผิดเพราะเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกหลังจากที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
ดังนั้น การบริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นค่าประกันตัวให้กับผู้ที่กระทำความผิด ภายหลังจากที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่เข้าข่ายมีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น
มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2561 การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 จะต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ หมายถึงต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้เสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมเสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในลักษณะของตัวการ และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 นั้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้หรือขอให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในภายหลังจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 จะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะในการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง