บุตรนอกสมรส มีสิทธิรับมรดกของบิดาหรือไม่?

บุตรนอกสมรส คือ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้จะถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดา แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา เว้นเสียแต่ว่า บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

แม้ไม่ได้กระทำการตามวิธีข้างต้น แต่หากปรากฏว่าบุตรนอกสมรสหรือบุตรนอกกฎหมาย บิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์แล้ว กฎหมายให้ถือว่าบุตรนอกสมรสนั้นเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในกองมรดกของบิดา รวมถึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาด้วย พฤติการณ์ที่ถือว่าบุตรนอกสมรสหรือบุตรนอกกฎหมายนั้น บิดาได้รับรองว่าเป็นบุตรของตนแล้ว เช่น ให้เลี้ยงดูบุตร กับมารดาของบุตร และยินยอมให้บุตร ใช้ชื่อสกุลของตนอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไป หรือ บิดามีพฤติการณ์ยกย่อง มารดาของบุตรเป็นภรรยาและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นให้เห็นว่าปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเด็กในครรภ์เป็นบุตร ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการรับรองว่าบุตรนอกสมรสเป็นบุตรของผู้เป็นบิดาแล้ว

อย่างไรก็ตามแม้บุตรที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์จะถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ในประการที่จะทำให้มีสิทธิได้รับมรดกของบิดาก็ตาม แต่ในกรณีที่บุตรตายก่อนบิดา บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้จะไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรม เพราะเมื่อเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เท่ากับว่าไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของบุตร แม้ว่ากฎหมายจะให้ถือว่าบุตรนอกสมรสที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์ มีฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็มีผลทำให้ได้รับมรดกของบิดาในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่ได้มีผลทำให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เช่นนี้หากบิดาถูกทำละเมิดจนถึงแก่ความตาย บุตรนอกกฎหมายนี้ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ทำละเมิด เพราะเมื่อไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตร จึงไม่ถือว่าบุตรขาดไร้อุปการะแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายไทยนั้นถือหน้าที่ตามกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ได้พิจารณาว่าในความเป็นจริงบิดาจะอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือไม่

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1547
เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551 ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาผู้ตายจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8661/2544 ป. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกและ บ. อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยเปิดเผยเป็นที่รับรู้ของบุคคลอื่นทั่ว ๆ ไป และมีบุตรด้วยกันก่อนโจทก์แล้วคนหนึ่งซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ป. ถึงแก่ความตายขณะ บ. ตั้งครรภ์โจทก์ พฤติการณ์ของ ป. และบ. ที่ปฏิบัติต่อกันแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ป. ยกย่อง บ. เป็นภริยาและยอมรับว่าเด็กที่เกิดจาก บ. เป็นบุตร บ. ตั้งครรภ์โจทก์ขณะที่ ป. ยังไม่ถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นให้เห็นว่าป. ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเด็กในครรภ์ บ. ไม่ใช่เป็นบุตรของ ป. จึงต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรและต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บ. แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. และเป็นทายาทของ ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตรา 1604

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2517 บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิเกี่ยวกับมรดกของชายผู้ให้กำเนิดเท่านั้น บุตรนอกกฎหมายจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้ให้กำเนิด ก็ต่อเมื่อได้มีการฟ้องคดีให้รับรองบุตรและศาลได้มีคำพิพากษาว่าเป็นบุตรตามมาตรา 1529 และ 1530 (3) แล้วส่วนมาตรา 1524 เป็นวิธีพิสูจน์การเป็นบุตรที่เกิดในระหว่างกรสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp