
ปลดล็อคกัญชาแล้ว ทำอะไรได้บ้าง?
จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 ที่ได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย.2565 มีผลทำให้พืชกัญชา กัญชงได้รับยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่หลายๆคนก็ยังเกิดข้อสงสัยอยู่ว่า การสูบ การขายกัญชานั้นจะสามารถทำได้อย่างเสรีจริงหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ…
1.ปลูกกัญชาได้หรือไม่
ปลูกกัญชาในบ้านได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจัดทำขึ้นมา อย่างไรก็ตามหากพบการกระทำความผิดที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อย. ก็สามารถถอนการจดแจ้งดังกล่าวได้
2.สูบกัญชาได้หรือไม่
เมื่อกัญชาและกัญชงถูกปลดล็อกพ้นจากยาเสพติด ทำให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ดังนั้นนอกจากประชาชนทั่วไปจะสามารถปลูกกัญชาได้แล้ว การเสพ การสูบ การบริโภค กัญชา-กัญชง ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ก็ยังอยู่ในความควบคุมดูแลภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
การสูบกัญชาในที่สาธารณะอันเป็นการรบกวนสิทธิผู้อื่น โดยก่อให้เกิดความรำคาญจากกลิ่นหรือควัน หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพแก่ประชาชนที่อยู่หรืออาศัยบริเวณใกล้เคียง เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถระงับเหตุและตรวจสอบได้ตามกฎหมาย โดยมีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
การที่ผู้ขับรถที่เสพกัญชา อาจมีความผิดตามกฎหมายจราจรได้ในฐานเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขับรถ
การใช้ใช้กัญชาในส่วนที่มีสาร THC เกิน 0.2% ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดในกฎหมายปลดล็อกจากยาเสพติด หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษตามกฎหมายยาเสพติด
3.ขายกัญชาได้หรือไม่การขายส่วนของพืชกัญชา
กัญชง ไม่ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด แต่การขายเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ ยังต้องขอรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การขายสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้สกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด หากเป็นสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % ไม่ต้องมีใบอนุญาตจําหน่ายยาเสพติดให้โทษ แต่การขายสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 % ต้องมีใบอนุญาตจําหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ การแปรรูปกัญชาเป็นอาหารหรือเครื่องสำอาง ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. อาหารและยาอย่างเคร่งครัด
4.ผลทางกฎหมายต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีอยู่เป็นอย่างไร
ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีหรือจะเลยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด เนื่องจากตามประมวลกฎหมายอาญา ได้วางหลักว่า ถ้ากฎหมายบัญญัติภายหลังให้การกระทำใดไม่เป็นความผิดต่อไป ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากการะเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้นอีก และผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา ก็ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดเกี่ยวกับกัญชาอีก หากกำลังรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ยังทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(5) เนื่องจากเป็นกรณีที่มีกฎหมายภายหลังมาบัญญัติให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับกัญชาไม่เป็นความผิดอีกต่อไป เช่นนี้โจทก์จึงไม่อาจฟ้องคดีเกี่ยวกับความผิดพืชกัญชาต่อศาลได้
สามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565
พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522