
ก่อนอื่นเลยทางบริษัท ลอว์รัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญอดีตตำรวจก่อเหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู
จากเกเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายรายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ภายหลังผู้ก่อเหตุได้ปลิดชีพตัวเองที่บ้านพัก พร้อมกับบุตรชายและภรรยา กรณีจึงทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดต่อชีวิตและร่างกายของผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น
ในคดีอาญา เมื่อผู้กระทำผิดถึงแก่ความตาย เป็นเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ เนื่องจากความรับผิดและโทษทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำความผิดโดยแท้ ไม่ตกทอดไปยังทายาท ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะถึงแก่ความตายในระหว่างการดำเนินคดีขั้นตอนใด ความตายของผู้กระทำความผิดย่อมทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไป และแม้ว่าผู้กระทำความผิดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องรับโทษแล้วก็ตามโทษตามคำพิพากษานั้นก็เป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด
อย่างไรก็ตามสิทธิในการฟ้องคดีระงับไปเฉพาะทางอาญาเท่านั้น หากการกระทำผิดมีมูลในทางแพ่งด้วย สิทธิในทางแพ่งของผู้เสียหายไม่ระงับลงไป เนื่องจากกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
จากกรณีตามข้อเท็จจริงการก่อเหตุกราดยิงทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหายซึ่งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ผู้กระทำจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้กระทำได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาก่อนที่จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ผู้เสียหายก็ไม่อาจฟ้องผู้กระทำผิดได้เพราะในขณะฟ้องไม่มีสภาพบุคคลแล้ว
แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าความรับผิดต่างๆของผู้ตายที่ไม่ใช่การเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ให้เป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมด้วย เมื่อหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ผู้ต่ยได้กระทำไม่ใช่การเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมเป็นมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรม
อย่างไรก็ตามผู้เสียหายสามารถฟ้องให้รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจฟ้องให้รับผิดในฐานะส่วนตัวได้ เพราะกฎหมายวางหลักว่าทายาทโดยธรรมไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน และหากผู้เสียหายจะฟ้องให้ทายาทโดยธรรมรับผิด ก็ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก กล่าวคือ ภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย
สรุปความได้ว่า แม้ว่าการที่ผู้กระทำความผิดถึงแก่ความตายซึ่งทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องต่อศาลเป็นอันระงับ แต่หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ซึ่งเป็นคดีแพ่งไม่ระงับ แต่จะเป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมให้รับผิด แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา 1600 ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
มาตรา 1754 วรรคท้าย ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2562 หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ บ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำไว้ก่อน บ. ถึงแก่ความตาย หนี้ดังกล่าวในส่วนของ บ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า “…ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก” หมายถึง กรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อ บ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ทั้งสองเพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเพิ่งเกิดขึ้นหลังจาก บ. เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ บ. ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับด้วย โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5529/2548 โจทก์ฟ้องผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ พ. ผู้ตายให้รับผิดชำระค่าเสียหายจากการละเมิดของ พ. ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องต่อกองมรกดของ พ. ความรับผิดของผู้ร้องตามคำฟ้องเป็นความรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของ พ. มิใช่ในฐานะส่วนตัว แม้ผู้ร้องจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในคดีนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องมิใช่ทรัพย์สินในกองมรดกของ พ. โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอากับที่ดินดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2543 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ด.ยอมรับสภาพหนี้ของ ด.ต่อโจทก์ มีผลผูกพันกองมรดกของ ด.เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์ แม้จำเลยจะเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแต่ก็รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่มิใช่ทรัพย์มรดก ประกอบกับหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ ด.ก่อขึ้นเอง หาก ด.ยังคงมีชีวิตอยู่ด.อาจถูกฟ้องขอให้ล้มละลายได้ ด.จึงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายล้มละลายต่อโจทก์และเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของ ด. ไม่ใช่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ด.โจทก์จึงนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด.ให้ล้มละลายไม่ได้ แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ด.ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82