ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้กู้ต้องคืนดอกเบี้ยหรือไม่

แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์วางหลักว่า สัญญากู้ยืมเงินกำหนดให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี แต่ก็อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 จึงมีผลทำให้ผู้ที่ให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ มีความผิดฐานเรียก ดอกเบี้ยเกินอัตรา มีโทษทางอาญา ดังนั้น การกู้ยืมเงินโดยตกลงคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ถือเป็นข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่กำหนดว่าเป็นความผิดและมีโทษอาญา อันเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะทั้งหมด ทำให้สัญญากู้ยืมเงินนั้นไม่มีการตกลงในเรื่องดอกเบี้ย ไม่ใช่เป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น

ประเด็นปัญหามีเพิ่มเติมต่อไปว่า การกู้ยืมเงินนอกระบบส่วนใหญ่มักจะคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และผู้กู้ก็มักจะยินยอมชำระไปตามนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 ผู้กู้จึงไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไปได้

แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ให้กู้จะได้ดอกเบี้ยไปเฉยๆ แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงเห็นว่า เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะและผู้กู้ไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ ผู้ให้กู้ซึ่งเป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยเช่นกัน ต้องนำดอกเบี้ยที่ผู้กู้ชำระให้ไปหักเงินต้นตามสัญญากู้เงิน

อย่างไรก็ตามถ้าผู้ให้กู้เป็นธนาคารพาณิชย์ จะไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 จึงสามารถเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ โดยอาศัยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์มาตรา 14 แต่ธนาคารพาณิชย์จะต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยด้วย จึงสามารถเรียกอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ประกาศอัตราดอกเบี้ยไว้ จะเป็นผลให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะทั้งหมด การชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยจะต้องนำไปหักออกจากต้นเงินทั้งหมดตามหลักการทั่วไป

สรุปได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีตกเป็นโมฆะทั้งหมด แม้ผู้ให้กู้ไม่ต้องคืนดอกเบี้ยให้ผู้กู้ แต่ก็ต้องนำไปหักจากเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนธนาคารพาณิชย์ไม่อยู่ในบังคับที่ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี แต่ก็ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยให้ผู้กู้ได้ตัดสินใจก่อนด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่

มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ย พ.ศ.2560

มาตรา 4 บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้

(2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือ

(3) กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใด ๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน และหลังจากทำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่งแล้ว จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา ประกอบ ป.พ.พ.มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ

ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่

โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะแล้ว และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp