ผู้ค้ำประกันตาย ทายาทจะต้องรับผิดชอบเพียงใด ???


ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าการค้ำประกันคืออะไร ทำไมถึงต้องมีการค้ำประกัน และผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างไร และหากต่อมาผู้ค้ำประกันตายทายาทของผู้ค้ำประกันต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด ค้ำประกัน คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันสัญญาว่าจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ หนี้ที่ค้ำประกันนี้จะเป็นหนี้อะไรก็ได้ เช่น หนี้เงินกู้ยืม หนี้ค่าสินค้า หนี้การก่อสร้าง หนี้จากการซื้อขาย เป็นต้น
และทำไมถึงต้องมีการค้ำประกัน ก็เพื่อเป็นหลักให้เจ้าหนี้มีความเชื่อมั่นอีกชั้นหนึ่งว่าหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ยังสามารถเรียกเอาจากผู้ค้ำประกันได้ และผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดอย่างไร ซึ่งโดยปกติผู้ค้ำประกันจะรับผิดไม่เกินวงเงินค้ำประกันของลูกหนี้ที่ตนประกัน แต่อาจจะตกลงกันในสัญญาค้ำประกันในวงเงินที่จำกัดจำนวนก็ได้ และหากต่อมาผู้ค้ำประกันตาย ทายาทของผู้ค้ำประกัน เช่นพ่อ แม่ ลูก ต้องรับผิดหรือไม่ ถึงแม้ว่าผู้ค้ำประกันตาย ทายาทของผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน เพราะฉะนั้นไม่ต้องตกใจครับว่าทายาทจะต้องไปรับผิดในหนี้ที่ไม่ได้ก่อไว้ หรือในหนี้ของผู้ค้ำประกัน เพราะทายาทของผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้ สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น
หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้นก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน


คำพิพากษาฎีกาที่ 1303/2564 สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันไม่ได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัว ผู้ค้ำประกันย่อมมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สิน ร.ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 681 วรรคหนึ่ง แม้ขณะที่ ร.ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของ ร.ไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ ร.ทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของ ร. แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามมาตรา 1601 ภายหลังจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 1 ชำระหนี้มาโดยตลอดแต่ไม่ตรงตามกำหนดตามสัญญา บางครั้งชำระไม่ครบจำนวนที่ต้องผ่อนชำระต่องวด บางครั้งชำระเกินจำนวนที่ต้องผ่อนชำระต่องวด แต่โจทก์ยอมรับชำระหนี้ไว้โดยตลอด แสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยที่ 1 และถือว่าคู่สัญญาไม่ได้ถือเอากำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเป็นสำคัญ เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งสี่ให้ชำระหนี้ทั้งหมดที่ค้างชำระแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นกำหนดไม่ชำระโจทก์ขอบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินทั้งหมดไปชำระแก่โจทก์ให้ครบถ้วนภายในกำหนด ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนแก่โจทก์ภายหลังวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.(ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์จะต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้เจ้าหนี้มีหน้าที่ส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ร. ผู้ค้ำประกัน คงมีเพียงหนังสือบอกกล่าวไปยัง ร.ผู้ค้ำประกันตั้งแต่วันก่อนที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด ดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมของ ร.รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142(5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7


โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย อันเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 (2)(ก) ท้าย ป.วิ.พ.

( หมายเหตุ ผู้ให้กู้ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนฟ้อง ศาลต้องพิพากษายกฟ้องผู้ค้ำประกัน )

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp