ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญามีใครบ้าง ???

ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญามีดังต่อไปนี้
1.พนักงานอัยการ
2.ผู้เสียหาย
คดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องก็จะต้องมีการสอบสวนก่อน เป็นการดำเนินการผ่านกระบวนการทางเจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้อง คดีก็เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล คดีอาญาที่ผู้เสียหายฟ้องเอง ศาลก็จะนัดไต่สวนมูลฟ้องก่อน หากมีมูลศาลก็สั่งประทับฟ้องคดีก็เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น นายขาวเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งถูกนายดำหมิ่นประมาททำให้นายขาวได้รับความเสียหาย นายขาวซึ่งเป็นผู้เสียหายสามารถที่จะกระทำได้สองทางแล้วแต่จะเลือกคือไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี เมื่อการสอบสวนจนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนก็จะส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ พนักงานอัยการก็ยื่นฟ้องนายดำต่อศาล คดีก็เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล หรืออีกทาง นายขาวซึ่งเป็นผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีด้วยตนเองโดยการว่าจ้างทนายความให้ดำเนินการแทนก็ได้ เมื่อผู้เสียหายยื่นฟ้องด้วยตนเองศาลก็จะนัดไต่สวนมูลฟ้อง และถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูลศาลก็สั่งประทับฟ้อง คดีก็เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลเช่นเดียวกัน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(1) พนักงานอัยการ
(2) ผู้เสียหาย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดย มิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8431/2561 บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 กำหนดเงื่อนไขให้อำนาจในการฟ้องคดีของพนักงานอัยการว่าจะต้องผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมาแล้ว หากไม่มีการสอบสวนมาก่อนจะฟ้องคดีไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏสำนวนการสอบสวนในสำนวนคดีนี้ แต่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยระบุในคำฟ้องว่าพนักงานสอบสอบสถานีตำรวจนครบาลศาลาแดงสอบสวนแล้วต่อมาศาลชั้นต้นเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำพิเศษธนบุรีมาอยู่ต่อหน้าศาล ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วจำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษจริง ตามคำให้การของจำเลยและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยไม่ได้โต้แย่งคัดค้านว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนจำเลยมาก่อนการฟ้องคดีนี้จึงถือได้ว่ามีการสอบสวนจำเลยในความผิดตามที่กล่าวหาตามฟ้องโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2535 ในคดีอาญาที่มีผู้เสียหายหลายคน แม้จะมีผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องผู้กระทำความผิดก่อนแล้วก็ตาม ผู้เสียหายคนอื่นก็มีสิทธิฟ้องผูกระทำผิดได้อีกเพราะ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติห้ามผู้เสียหายคนอื่นฟ้องผู้กระทำผิดอีกและแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะให้นำ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มาใช้บังคับในคดีอาญา แต่มาตรา 173 วรรคสอง (1) ก็ห้ามเฉพาะโจทก์ในคดีเดิมเท่านั้นมิให้ฟ้องจำเลยซ้ำในเรื่องเดียวกัน ดังนี้ เมื่อโจทก์ยังไม่เคยฟ้องจำเลยที่ 2 ในเรื่องเดียวกับที่ฟ้องคดีนี้มาก่อน และการที่ ม. ภรรยาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในเรื่องเดียวกับคดีนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการฟ้องแทนโจทก์ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาที่ ม.ภรรยาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ดังกล่าว

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp