ผู้ป่วยจิตเวช กระทำผิดกฎหมายอาญา ไม่ต้องรับโทษจริงหรือ

กรณีปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่ามีชายรายหนึ่งได้บุกเข้าทำร้ายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดังในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และได้ตะโกนว่ามีระเบิด ทำให้ผู้คนในงานตกใจกลัวเป็นอย่างมาก เมื่อย้อนดูประวัติที่ผ่านมาพบว่าเคยกระทำผิดในลักษณะการก่อความวุ่นวายใยสังคมมาแล้วหลายครั้ง และพบว่าชายคนดังกล่าวมีประวัติเป็นผู้ป่วยอารมณ์แปรปรวน จึงทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าบุคคลที่มีอาการทางจิตแล้วยังมากระทำผิดกฎหมายอาญาซ้ำซาก ไม่มีความผิดเลยหรือ

ประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณามีดังต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ว่าบุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ สำหรับคำว่า การกระทำ นั้น หมายถึง การกระทำโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง คือ ผู้กระทำได้กระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ

การพิจารณาว่าการกระทำของผู้ป่วยจิตเวชหรือบุคคลวิกลจริต ถือว่ามีการกระทำเช่นบุคคลธรรมดาทั่วไปหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าผู้นั้นได้กระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นผู้กระทำก็ไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำลงไป เช่น โรคจิตเภท โรคปัญญาอ่อน หรือโรคสมองเสื่อม ในทางกลับกัน ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิด แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เช่น กลุ่มโรควิตกกังวลหรือกลุ่มโรคซึมเศร้า

ดังนั้น การกระทำความผิดของผู้ป่วยจิตเวชหรือบุคคลวิกลจริต ถือว่ามีการกระทำซึ่งเป็นเหตุที่เข้าองค์ประกอบความรับผิดตามกฎหมายอาญา เพียงแต่ว่าไม่ได้กระทำลงด้วยจิตใจชั่วร้ายอย่างเช่นคนปกติ จึงเป็นเหตุยกเว้นโทษ หรือลดโทษแล้วแต่กรณี

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้ากรณีที่ป่วยจนทำผิดจริง แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะกระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ และไม่สามารถบังคับตนเองได้ ก็จะถูกปล่อยตัวออกมาเฉยๆเลยหรือ ประกอบกับคนประเภทนี้ยังมีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำๆอีกด้วย

ประเด็นดังกล่าว ประมวลกฎหมายอาญาประมวลกฎหมายอาญา ก็ได้วางหลักว่า การปล่อยตัวผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งไม่ต้องรับโทษนั้น หากว่าจะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน ศาลสามารถมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำไปคุมไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ และคำสั่งนี้ศาลจะสั่งเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้

ดังนั้น แม้ผู้กระทำจะไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลสามารถสั่งให้ไปรักษาในโรงพยาบาลนานเท่าไหร่ก็ได้ จนกว่าจะเพิกถอนคำสั่ง

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การที่ชายรายหนึ่งซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิต ได้ออกมาก่อความวุ่นวายในที่สาธารณะ และทำร้ายร่างกายผู้อื่น ทั้งยังมีความสามารถในการขับรถยนต์ จึงเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าชายผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบและยังสามารถบังคับตนเองได้ จึงไม่น่าจะรับฟังไม่ได้ว่า กระทำความผิดในขณะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง กรณีจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและต้องรับโทษ เพียงแต่ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้

ข้อกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 48 ถ้าศาลเห็นว่า การปล่อยตัวผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งไม่ต้องรับโทษหรือได้รับการลดโทษตามมาตรา 65 จะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมตัวไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ และคำสั่งนี้ศาลจะเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้

มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8699/2563 จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเล่นอยู่กับเพื่อนให้ไปพบจำเลยที่ห้องเรียนวิทยาศาสตร์และห้องน้ำชาย แสดงว่าจำเลยเป็นผู้เลือกที่จะกระทำกับผู้เสียหายและเลือกสถานที่กระทำความผิด ที่ล้วนแต่เป็นที่ลับตาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายที่ห้องน้ำชายแล้ว จำเลยยังบอกผู้เสียหายว่า จำเลยจะออกจากห้องน้ำไปก่อนให้ผู้เสียหายนับ 1 ถึง 200 แล้วจึงออกจากห้องน้ำ บ่งชี้ว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดของตน รู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงหาทางกลบเกลื่อนและหลบซ่อนจากการรู้เห็นของผู้อื่น อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและยังสามารถบังคับตนเองได้ จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ที่ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.อ. มาตรา 65

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1226/2547 จำเลยมีอาการป่วยทางจิตคล้ายเป็นโรคจิตเภทโดยมีอาการระแวง จึงไปรับการรักษาที่คลินิกรวม 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจำเลยบอกแพทย์ที่รักษาว่าหายแล้ว ขอเลิกกินยา แสดงว่าอาการของจำเลยต้องดีขึ้น สามารถพูดจารู้เรื่องแล้ว ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 เดือน จำเลยเคยนำอาวุธปืนของกลางออกไปใช้แล้วนำกลับไปคืนที่บ้าน ม. ในวันเกิดเหตุจำเลยงัดกุญแจประตูห้องนอน ม. แล้วนำอาวุธปืนของกลางออกไป โดยก่อนไปยังขอเงินภริยาจำเลยเพื่อเติมน้ำมันแล้วขับรถยนต์ออกไป หลังเกิดเหตุมีการใช้อาวุธปืนยิง ป. ผู้ตาย จำเลยยังสามารถขับรถยนต์หลบหนีกลับบ้านได้ ในชั้นสอบสวนจำเลยพูดจารู้เรื่องสามารถพูดโต้ตอบได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดในขณะยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้างตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp