
จากที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีนักกฎหมายทำคลิปที่อ้างถึงระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดแพร่หลายในโลกโซเชียลว่า หากผู้เสียหายฟ้องคดีเองเป็นการตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีอีก ทำให้วงการกฎหมายต่างสับสนกันเป็นอย่างมาก ผลทางกฎหมายที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร สามารถศึกษาได้จากหลักกฎหมายดังต่อไปนี้
ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้แก่พนักงานอัยการและผู้เสียหาย สำหรับพนักงานอัยการ จะมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ก็ต่อเมื่อมีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นแล้วการสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขแห่งอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ หากไม่มีการสอบสวนหรือการสอบสวนไม่ชอบ ทำให้การสอบสวนเสียไป ก็จะส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนผู้เสียหายซึ่งเป็นราษฎร ไม่จำต้องมีการสอบสวนก่อนฟ้องคดี แต่ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ การฟ้องคดีต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
ในกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคน อำนาจฟ้องของผู้เสียหายแต่ละคนแยกออกจากกันเป็นเอกเทศ แม้จะมีผู้เสียหายคนหนึ่งยื่นฟ้องแล้วก็ตาม ผู้เสียหายคนอื่นๆก็สามารถยื่นฟ้องได้อีก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบัญญัติห้ามผู้เสียหายคนอื่นฟ้องผู้กระทำผิดอีก
นอกจากนี้พนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างก็มีอำนาจฟ้องคดีอาญาด้วยกันทั้งสิ้น แม้เป็นคดีอาญาเรื่องเดียวกัน จำเลยคนเดียวกัน หากผู้เสียหายฟ้องคดีแล้วก็ไม่ตัดอำนาจของพนักงานอัยการในการฟ้องคดีนั้นอีก และในทางตรงกันข้ามแม้พนักงานอัยการฟ้องแล้ว ก็ไม่ตัดอำนาจผู้เสียหายในการฟ้องอีกเช่นกัน
ส่วนในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 48 (10) วางหลักว่า “เมื่อคดีเป็นความผิดต่อส่วนตัวและผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้ว ไม่ว่าจะได้ยื่นฟ้องก่อนหรือหลังจากที่พนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวน และไม่ว่าคดีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วนั้น ศาลจะพิพากษาแล้วหรือไม่ก็ตาม พนักงานอัยการจะมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีนั้น” ระเบียบดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น ไม่ใช้บังคับกับคดีอาญาแผ่นดิน
ดังนั้น เมื่อความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างมีอำนาจฟ้องเป็นเอกเทศแยกออกจากกัน แม้ผู้เสียหายฟ้องคดีเองก็ไม่เป็นการตัดสิทธิอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ
อย่างไรก็ตามแม้อำนาจฟ้องของผู้เสียหายและพนักงานอัยการจะเป็นเอกเทศแยกออกจากกัน แต่หากในคดีใดได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ก็จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป เป็นไปตามหลักที่ว่าบุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียว เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามไม่ให้ลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียว ดังนั้น ถ้าในความผิดที่พนักงานอัยการหรือผู้เสียหายได้ฟ้องจําเลยนั้น ศาลมีคําพิพากษาแล้ว ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายก็จะไม่มีสิทธิฟ้องจําเลยในความผิดเดียวกันกับที่ศาลมีคําพิพากษาไปแล้วได้อีก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(1) พนักงานอัยการ
(2) ผู้เสียหาย
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอ ความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 37
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
(6) เมื่อคดีขาดอายุความ
(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563
ข้อ 48 (10) คดีความผิดต่อส่วนตัวและผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้ว ไม่ว่าจะได้ยื่นฟ้องก่อนหรือหลังจากที่พนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวน และไม่ว่าคดีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วนั้น ศาลจะพิพากษาแล้วหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นเงื่อนไขระงับคดีซึ่งพนักงานอัยการจะต้องมาใช้ประกอบการพิจารณาสำนวนการสอบสวน โดยให้พนักงานอัยการพิจารณามีคำสั่งยุติการดำเนินคดีนั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 769/2535 ในคดีอาญาที่มีผู้เสียหายหลายคน ผู้เสียหายแต่ละคนย่อมมีสิทธิฟ้องผู้กระทำผิดได้ การที่ผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องผู้กระทำผิดก่อนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามผู้เสียหายคนอื่นฟ้องผู้กระทำผิดอีก ส่วน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ซึ่งได้บัญญัติห้ามโจทก์เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณายื่นฟ้องจำเลยเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก ก็เป็นการห้ามเฉพาะโจทก์ในคดีเดิมเท่านั้นมิให้ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกัน แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะให้นำมาใช้บังคับในคดีอาญาได้แต่โจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันกับที่ฟ้องคดีนี้มาก่อนการที่ ม. ภรรยาโจทก์เคยฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการฟ้องแทนโจทก์ด้วย ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่ ม. เคยฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007 – 4008/2530 แม้พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องจำเลยข้อหายักยอกแล้ว โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายก็มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดเดียวกันเป็นคดีใหม่ต่างหากได้ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ และเมื่อศาลสั่งรวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกันแล้วคดีของโจทก์ร่วมก็ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162