
พนักงานสอบสวนไม่ถามคำให้การผู้ต้องหา ทำให้การสอบสวนเสียไปหรือไม่?
ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาคือ การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 มีหลักการคือ ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา รวมทั้งเพื่อให้รู้ตัวผู้กระทำผิด พิสูจน์ถึงความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
จากการพิจารณาหลักการดังกล่าวพบว่าการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน กล่าวคือ เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับความผิดที่ได้ถูกกล่าวหา หากเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอแล้วก็สามารถสรุปสำนวนความเห็นส่งฟ้องพนักงานอัยการได้เลย ไม่ได้เป็นบทบังคับว่าพนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมหลักฐานทุกชนิดที่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อกับคดีร้องขอ เพราะการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ไม่ได้เป็นการสอบสวนในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญในประการที่จะมีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ กล่าวคือ แม้พนักงานสอบสวนจะรวบรวมหลักฐานน้อยมาก สอบถามปากคำพยานก็ไม่ครอบทุกปาก แต่เมื่อได้ความว่าได้มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ
ดังนั้น พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจรวบรวมพยานหลักฐานแต่เพียงบางส่วนได้ เพราะไม่ได้มีบทกฎหมายบังคับว่าจะต้องสอบสวนมากน้อยเพียงใด เช่นนี้เมื่อพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว แม้จะไม่ได้สอบถามคำให้การผู้ต้องหาในความผิดที่แจ้งข้อหา แต่หากได้ความว่าได้มีการสอบสวนในความผิดที่ได้แจ้งข้อหาโดยชอบแล้ว เช่น สอบถามคำให้การจากพยานปากอื่นๆ หรือมีหลักฐานอื่นๆเพียงพอแล้ว การสอบสวนก็ไม่เสียไป พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง
อย่างไรก็ตามหากปรากฏว่าพนักงานสอบสวนถึงขนาดที่ไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเลย ก็จะมีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ กล่าวคือ เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องความผิดฐานนั้นเลย เนื่องจากมาตรา 120 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาวางหลักเอาไว้ว่า ห้ามพนักงานอัยการฟ้องคดีด็ตามโดยไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบ ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด
มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 869/2557 จำเลยขอแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการขอให้พนักงานสอบสวนหาสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ แต่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการให้ซึ่งเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนและโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานที่รวบรวมไว้เพียงพอแล้วจึงสรุปสำนวนความเห็นสั่งฟ้องจำเลย การสอบสวนจึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยเห็นว่าควรจะต้องมีการตรวจหาสารพันธุกรรม เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการให้ จำเลยก็สามารถดำเนินการให้มีการตรวจหาสารดังกล่าวเองได้ การที่ไม่มีการตรวจหาสารพันธุกรรม จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2542 เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยว่า ลักทรัพย์ รับของโจร และฉ้อโกง แล้วพนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การ จ.ผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารผู้เสียหายกรณีที่จำเลยใช้สมุดคู่ฝากถอนเงินสดจากธนาคารผู้เสียหายไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ไว้ ชั้นสอบสวน จำเลยให้การรับว่าในวันดังกล่าวจำเลยได้ใช้สมุดคู่ฝากถอนเงินสดจำนวนดังกล่าว ไปจากผู้เสียหายจริง ดังนี้ เห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงด้วยแล้ว แม้ว่าในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง ร้อยตำรวจโท อ.ไม่ได้สอบปากคำว่าจำเลยได้ไปฉ้อโกงหรือหลอกลวงผู้ใดไว้หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะในการสอบสวนไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายว่าพนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนมากน้อยเพียงใด เมื่อมีการสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกงโดยชอบแล้วพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2494 ได้มีการสอบสวนความผิดในคดีอาญาเรื่องหนึ่งจนถึงแก่ได้มีการฟ้องร้องผู้กระทำผิดต่อศาลศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วภายหลังจับผู้ที่สมคบกระทำความผิดนั้นได้ พนักงานสอบสวนจึงได้สอบสวนตัวผู้สมคบนั้นกับผู้จับประกอบเพียงเท่านั้นส่วนพยานอื่นถือเอาคำพยานในสำนวนการสอบสวนเดิมมิได้เรียกพยานเหล่านั้นมาสอบใหม่อีกดังนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าคดีสำหรับผู้สมคบนี้ได้มีการสอบสวนชอบแล้ว