พยานกลับคำให้การ ผิดหรือไม่??


จากกรณีที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวว่าพยานในคดีหนึ่งได้กลับคำให้การในชั้นสอบสวน จึงทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า การกลับคำให้การมีความผิดหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวมีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือเรื่อง การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามเจ้าพนักงาน เช่น การให้การเท็จในฐานะพยาน หรืออาจจะเป็นการแจ้งโดยวิธีแสดงหลักฐาน โดยข้อความที่แจ้งต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบัน หากเป็นเรื่อง ‘อนาคต’ จะไม่ถือว่าเป็นความเท็จ เพราะไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ อีกทั้งข้อความอันเป็นเท็จนั้นต้องเป็นข้อสำคัญในคดีไม่ใช่เป็นเพียงรายละเอียด

นอกจากนี้การแจ้งความเท็จต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพียงการแสดงความคิดเห็น หรือการคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคต และการแจ้งความเท็จนั้น ผู้แจ้งต้องกระทำโดยเจตนา กล่าวคือ ต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงตามที่แจ้ง แต่ถ้าแจ้งตามที่เข้าใจเช่นนี้ถือว่าผู้แจ้งไม่มีเจตนา

หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ มีเจตนาเพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย เช่น การถูกคุมขัง กรณีนี้ก็จะทำให้ผู้แจ้งต้องรับโทษหนักขึ้น และหากเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จในกรณีแห่งข้อหาที่ว่า ผู้อื่นกระทำผิดในความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หรือประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต เช่นนี้ ผู้กระทำก็จะได้รับโทษหนักขึ้นอีก เพราะเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ดังนั้น จากการที่พยานได้กลับคำให้การในชั้นสอบสวน ก็อาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้นในฐานะ ผู้ต้องหา ก็จะไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

เนื่องจากผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ก็ได้เป็นสิทธิของผู้ต้องหา แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะไม่เป็นความจริง ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 เพราะถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ กฎหมายจึงต้องให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

สรุป ถ้าให้การในฐานะผู้ต้องหา แม้จะเป็นความเท็จก็ไม่มีความผิด แต่ถ้าให้การเท็จในฐานะพยาน หรือให้การเท็จก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหา ก็จะมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จได้

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับ ความผิดอาญา แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคสี่ พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5346/2540 จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า “ภายหลังเกิดเหตุรถชนกันแล้ว ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องได้หลบหนีไป” ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วคนขับรถสามล้อเครื่องยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยน่าจะทำให้พนักงานสอบสวนหรือประชาชนเสียหาย การที่จำเลยได้แจ้งความเท็จก่อนจำเลยถูกสอบสวนว่าคนขับรถสามล้อเครื่องได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือไม่ มิใช่เป็นการให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2522 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ผู้ต้องหาจะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างใดก็ได้ แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะไม่เป็นความจริง ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วสอบสวนจดคำให้การของจำเลยไว้ ต่อมามีพยานหลักฐานว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับรถชนผู้เสียหายมิใช่จำเลย พนักงานสอบสวนเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่จดไว้เป็นความเท็จจึงแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานดังนี้ คำให้การของจำเลยที่พนักงานสอบสวนจดไว้เป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาแม้ไม่เป็นความจริง จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2536 เมื่อจำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(2) แล้ว จำเลยจะให้การเท็จจริงอย่างไรหรือไม่ให้การอะไรก็ได้ ไม่มีกฎหมายใดบังคับดังนั้น โจทก์จะอ้างคำรับของจำเลยในชั้นสอบสวนซึ่งในชั้นพิจารณาจำเลยได้ปฏิเสธ ให้เห็นว่าคำเบิกความชั้นศาลของจำเลยเป็นความจริงมาใช้ประกอบเพื่อให้ฟังว่าข้อความที่จำเลยให้ไว้แก่พนักงานสอบสวนนั้นเป็นความเท็จหาได้ไม่

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp