
พยานซัดทอด รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่?
พยานซัดทอด หมายถึง พยานที่มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยกันในการกระทำความผิด และได้เบิกความปรักปรำเป็นผลร้ายแก่ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน พยานซัดทอดเป็นได้ทั้งประจักษ์พยานและพยานบอกเล่า กล่าวคือ ประจักษ์พยาน หมายถึง พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง โดยพยานเป็นผู้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยในคดี ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำความผิด จึงถือได้ว่าเป็นประจักษ์พยานในขณะที่มีการกระทำความผิด แล้วพยานคนดังกล่าวได้มาเบิกความปรักปรำซัดทอดจำเลยในชั้นศาล เมื่อศึกษาจากตัวบทกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พบว่าไม่มีบทบัญญัติห้ามรับฟังพยานซัดทอดเอาไว้ เช่นนี้จึงสามารถรับฟังพยานซัดทอดได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา จึงตกอยู่ภายใต้บทบังคับที่ว่าศาลจะต้องใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง เนื่องด้วยว่าโทษทางอาญานั้นมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศาลจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาพยานหลักฐาน กล่าวคือ จะต้องพิจารณาให้ได้ความเป็นที่แน่ใจได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ หากมีความสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลจะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่าพยานหลักฐานนั้นเป็นพยานซัดทอด ซึ่งถือเป็นพยานบุคคลที่มีข้อบกพร่องเพราะอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน ศาลจึงต้องรับฟังพยานหลักฐานนั้นด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานซัดทอดนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นเสียแต่ว่าจะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี เช่น พยานไม่ยอมมาเบิกความต่อศาลจนศาลออกหมายจับก็ยังไม่ได้ตัวมา หรือมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบสนับสนุน โดยต้องมีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากพยานหลักฐานที่ต้องการพยานหลักฐานนั้นมาประกอบ และยังต้องสามารถนำมาสนับสนุนพยานหลักฐานที่นำไปประกอบให้มีความน่าเชื่อถือด้วย แต่ต้องพึงระวังไว้ด้วยว่า แม้พยานซัดทอดนั้นจะสามารถรับฟังได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติที่ว่าในคดีอาญา ห้ามโจทก์อ้างจำเลยในคดีเดียวกันมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ เช่นนี้ โจทก์จึงห้ามฟ้องพยานซัดทอดนั้นเป็นจำเลยในคดีเดียวกันกับจำเลยที่ถูกซัดทอด
ดังนั้น สรุปความได้ว่าถ้านำพยานบุคคลซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย แล้วพยานคนนั้นได้เบิกความซัดทอดจำเลยในชั้นศาล ก็สามารถรับฟังพยานซัดทอดเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ แต่ศาลต้องฟังด้วยความระมัดระวัง แลไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เพราะถือว่าเป็นพยานที่มีความบกพร่องอันจะกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน เว้นเสียแต่ว่าจะเข้าข้อยกเว้นให้ศาลสามารถรับฟังพยานบอกเล่าโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยได้
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
มาตรา 227/1 ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน
พยานหลักฐานประกอบตามวรรคหนึ่ง หมายถึง พยานหลักฐานอื่นที่รับฟังได้ และมีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากพยานหลักฐานที่ต้องการพยานหลักฐานประกอบนั้น ทั้งจะต้องมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้พยานหลักฐานอื่นที่ไปประกอบมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2564 คำรับของจำเลยทั้งสองแม้จะถือว่าเป็นคำรับอันเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของจำเลยทั้งสองและสามารถใช้ยันจำเลยทั้งสองในชั้นพิจารณาของศาลได้ก็ตาม แต่โจทก์ต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้มั่นคงว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำผิดตามคำรับด้วยจึงจะลงโทษจำเลยทั้งสองได้แม้จำเลยที่ 2 ปลอมใบส่งสินค้าและนำใบส่งสินค้าปลอมไปใช้ภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 ได้ลักทรัพย์ของนายจ้างสำเร็จไปแล้ว แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน โดยจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะนำเอกสารปลอมที่ทำขึ้นไปใช้เป็นหลักฐานเพื่อปกปิดการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่ตนก่อขึ้น ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1428/2563 คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งให้การด้วยความสมัครใจและตามความสัตย์จริง โดยไม่มีเหตุจูงใจทั้งมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนและลงลายมือชื่อไว้ แม้ทนายความที่เข้าร่วมฟังการสอบสวนจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นคนละคนก็ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้สงสัยว่าไม่มีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กำหนดให้พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาเท่านั้น กรณีการสอบสวนผู้ต้องหาหลายคนจึงไม่จำเป็นต้องมีทนายความคนเดียวกันเข้าร่วมฟังการสอบสวน คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงรับฟังได้ แม้คำให้การชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่คำซัดทอดนั้นมิได้เป็นเรื่องปัดความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้ประสบมาจากการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่ 3 ทั้งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 โดยจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ต่อเมื่อมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อพยานพฤติเหตุแวดล้อมในคดีรับฟังประกอบคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว ทำให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ประกอบไปด้วยเหตุผลและรับฟังเป็นความจริงได้ ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง