พระ เบิกเงินวัดไป แม้ภายหลังนำมาคืน ผิดหรือไม่?

พระ เบิกเงินวัดไป แม้ภายหลังนำมาคืน ผิดหรือไม่?
จากที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่าอดีตพระนักเทศน์ชื่อดังท่านหนึ่งได้เบิกเงินวัดไปหลายแสน ในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เพื่อนำเงินไปให้คนกลาง แล้วปรากฏว่าภายหลังนำเงินมาคืน จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการที่อดีตพระเอาเงินวัดไปมีความผิดอย่างไร

ประเด็นดังกล่าวมีข้อพิจารณาทางกฎหมายดังนี้
ความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ คือการที่เจ้าพนักงาน ซึ่งมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไป การจะเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ได้ จะต้องปรากฏว่าผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงาน กล่าวคือ เจ้าพนักงาน หมายถึง บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่

เจ้าอาวาส เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 เช่นนี้จึงถือว่าเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีหน้าที่ต้องทำนุบำรุงดูและรักษากิจการและทรัพย์สินของวัด และเมื่อเป็นเจ้าพนักงานแล้วก็จะมีผลในเรื่องของการกระทำความผิดอาญา กล่าวคือ ต้องรับโทษมากกว่าบุคคลทั่วไปในความผิดฐานนั้น เช่น ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เมื่อได้ความว่าผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงานก็จะมีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ซึ่งมีโทษสูงกว่าความผิดฐานยักยอกทรัพย์ธรรมดา นอกจากนี้กฎหมายก็ยังให้ความคุ้มครองบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานมากกว่าบุคคลธรรมดาด้วย กล่าวคือ หากมีบุคคลใดกระทำผิดต่อเจ้าพนักงาน บุคคลนั้นก็จะได้รับโทษสูงขึ้น

ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส เช่นนี้จึงมีผลให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีตามข่าวอดีตพระในฐานะที่เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ได้เบิกเงินของวัดไปเพื่อนำเงินไปให้ผู้อื่นในทางส่วนตัว ไม่ได้นำไปใช้ในการทำนุบำรุงดูแลรักษาวัด จึงเป็นการที่ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลรักษาทรัพย์สินของวัด ได้เบียดบังนำเงินของวัดไปเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต กล่าวคือ นำเงินไปใช้ในทางส่วนตัว มีเจตนาพิเศษเพื่อที่จะแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องจากเงินที่ประชาชนได้บริจาคทำบุญนั้นมาจากความศรัทธาของประชาชน เพื่อให้เงินนั้นได้นำไปใช้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ไม่ใช่นำไปใช้ในทางกิจธุระส่วนตัว ผู้กระทำจึงอาจจะเข้าข่ายมีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว แม้ภายหลังอดีตพระ จะนำเงินมาคืนวัดก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วกลับคืนมาเป็นว่าไม่เป็นความผิดได้

อย่างไรก็ดีหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าพระที่ได้เบียดบังเอาทรัพย์ไปนั้น ไม่มีฐานะเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส อาจจะไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการหรือด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ก็จะมีผลทำให้พระรูปนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ คงมีความผิดแต่เพียงฐานยักยอกทรัพย์ที่ผู้กระทำเป็นบุคคลธรรมดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจะเป็นไปอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 1(16)
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่

มาตรา 147 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพัน บาทถึงสี่หมื่นบาท
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

มาตรา 45 ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 39 ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11340/2556 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดว่า “การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้ (11) เจ้าอาวาส” ดังนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง จึงถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560 การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คที่รับแทนโจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีอื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ย่อมถือได้แล้วว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนายักยอกเงินของโจทก์ร่วมอันเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว แม้ภายหลังจำเลยที่ 1 จะโอนเงินคืนโจทก์ร่วมก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วกลับคืนมาเป็นว่าไม่เป็นความผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2519 พระพุทธรูปซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัด จึงอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา 37(1) จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาพระพุทธรูปเป็นของตนหรือของจำเลยที่ 2 โดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ในการเบียดบังเอาพระพุทธรูป มีความผิดเกี่ยวกับการยักยอกด้วย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานยักยอก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกด้วย ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ศาลต้องยกฟ้อง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 และการยกฟ้องนี้เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ยกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วย

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp