ฟ้องคดีเช็คเป็นคดีอาญา ต่อมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความในทางแพ่งคดีอาญาจะระงับหรือไม่ ???

ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค หรือที่เข้าใจกันเป็นภาษาชาวบ้านว่าออกเช็คไม่มีเงิน หรือเช็คเด้งนั้น เป็นความผิดอาญามีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับหากต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ผลของการทำสัญญาประนีประนอมทำให้สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้เดิมระงับไป มาผูกพันกันตามสัญญาประนีประนอม หากต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จะกลับไปเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามมูลหนี้เดิมตามเช็คอีกไม่ได้ และทำให้คดีเช็คที่มีโทษทางอาญาระงับไปด้วยเพราะมูลหนี้เดิมระงับไปแล้ว


มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำพิพากษาฎีกาดังนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534
มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ


มาตรา 7 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๔ ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๔ ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


คำพิพากษาฎีกาที่ 482/2563 โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้เงินตามมูลหนี้ตามเช็คพิพาทและ ศาลมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 แม้จำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น เป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39


แม้สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมระบุยกเว้นว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่ ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือยอมความ และไม่เป็นเหตุให้คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกี่ยวกับเช็คพิพาทต้องเลิกกันจนกว่าจำเลย จะได้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ครบถ้วน หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งให้โจทก์มีสิทธิหยิบยกคดีอาญาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวได้ทันที ข้อตกลงเช่นว่านี้มีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายโดยชัดแจ้ง ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้ออื่นได้ ไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งนั้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp