มีคนร้ายถูกไฟดูดตายจากการขึงลวดกระแสไฟฟ้าแรงสูงจะอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่

จากกรณีที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกกระแสไฟดูด เพราะพลาดเดินเตะลวดไฟฟ้าป้องกันการโจรกรรมที่ทางโรงแรมแห่งหนึ่งได้ติดตั้งเอาไว้ จึงทำให้เกิดประเด็นข้อกฎหมายว่าโรงแรมจะอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้พ้นความผิดได้หรือไม่

ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ การกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่นเพื่อให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึง โดยหากกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้กระทำไม่มีความผิด

ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมาย หมายถึง ภัยที่เป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือต่อชื่อเสียง โดยผู้ก่อภัยนั้นไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ เช่นนี้แล้ว หากผู้ก่อภัยมีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ ผู้ตอบโต้ก็จะอ้างป้องกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ก่อภัยใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ก็ถือเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

บางกรณีแม้ภยันตรายจะเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ก็ไม่สามารถอ้างป้อนกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ กล่าวคือ ผู้อ้างป้องกันจะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตราย เช่น ผู้ก่อภัยในตอนแรกจะโต้ตอบกลับไปโดยอ้างป้อนกันเพื่อให้ตนเองพ้นความผิดไม่ได้ รวมถึงผู้ที่สมัครใจทะเลาะวิวาทก็เช่นเดียวกัน เพราะการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกกระทำฝ่ายเดียวก่อนแล้วจึงกระทำตอบกลับไปเพื่อเป็นการป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น อย่างไรก็ตามหากปรากฏว่าการทะเลาะวิวาทขาดตอนไปแล้ว สิทธิป้องกันก็จะฟื้นกลับคืนมา ผู้ต้องรับภัยอันตรายก็สามารถอ้างป้องกันได้

นอกจากนี้องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็คือ ภยันตรายนั้น ต้องเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึงและยังไม่สิ้นสุดลง เช่น กรณีคนร้ายลักทรัพย์ ภยันตรายยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่คนร้ายยังพาทรัพย์หนีไป เมื่อติดตามเอาคืนทรัพย์ในทันใด ก็จะสามารถอ้างป้องกันได้ แต่เมื่อคนร้ายหยุดพาทรัพย์หนีแล้ว เช่น เอาทรัพย์ไปซ่อน เป็นกรณีที่ภยันตรายสิ้นสุดแล้ว จึงไม่สามารถอ้างป้องกันได้

ในกรณีของการป้องกันล่วงหน้า เป็นกรณีที่ภยันตรายยังไม่มาถึงแต่ได้ป้องกันเอาไว้ก่อน เช่น การติดตั้งลวดประแสไฟฟ้าป้องกันการโจรกรรม จะต้องพิจารณาว่าผู้ที่ได้รับผลร้ายจากการป้องกันล่วงหน้านั้นเป็นคนดี หรือ คนร้าย หมายความว่า ถ้าเป็นคนดี แล้วได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการป้องกันล่วงหน้า ก็ไม่อาจอ้างป้องกันได้ ในทางกลับกัน ถ้าเป็นคนร้ายที่มีเจตนาจะก่อภัย ผู้กระทำก็สามารถอ้างป้องกันล่วงหน้าได้

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้วางแนวทางในการวินิจฉัยใหม่ว่า การจะเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ต้องพิจารณาถึงราคาทรัพย์สินที่ต้องการป้องกัน หากมีราคาไม่สูงมาก แล้วนำมาเทียบกับชีวิตของผู้ก่อภัย ก็เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ มีผลทำให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นน้อยเพียงใดก็ได้

จากกรณีตามข่าว การที่ทางโรงแรมขึงลวดไฟฟ้าเพื่อป้องกันการโจรกรรม ก็เป็นกรณีที่โรงแรมการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่นเพื่อให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย แต่เป็นการป้องกันล่วงหน้า ซึ่งถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียชีวิตเป็นคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์หรือก่อภัยอื่นๆ และทรัพย์สินของทางโรงแรมมีราคาสูงเมื่อเทียบกับชีวิตของคนร้าย จึงเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โรงแรมไม่มีความผิด

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา 69 ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 และมาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 76/2563 จําเลยขึงเส้นลวดของกลางเป็นแนวรั้วล้อมบริเวณต้นพืชกระท่อมแล้วปล่อยกระแส ไฟฟ้าขนาดแรงดัน 220 โวลต์ เข้าสู่แนวรั้ว แม้ว่าการกระทําของผู้ตายทั้งสามถือว่า เป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจําเลย ซึ่งจําเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จําเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาดแรงดัน สูงถึง 220 โวลต์ ไปตามเส้นลวดของกลางที่ขึงเป็นแนวรั้วโดยไม่มีฉนวนหุ้มนั้น แม้โดยสภาพจะไม่ทําให้ผู้สัมผัสเส้นลวดที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ถึงแก่ความตายในทันที แต่ก็สามารถทําให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายหรือสาหัสได้ และหากถูกกระแสไฟฟ้าช็อตเป็นเวลานานย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ อีกทั้งบริเวณหลังบ้านเกิดเหตุที่ผู้ตายทั้งสามนอนตายอยู่นั้น มีกิ่งต้นพืชกระท่อมถูกตัดลงมาบางส่วนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นของจําเลยอยู่ในบริเวณดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้ตายทั้งสามมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปในอาณาเขตบ้านของจําเลยเพื่อลักเอาใบพืชกระท่อมของจําเลยไปเท่านั้น ทรัพย์ที่จําเลยมีสิทธิกระทําการป้องกันเป็นเพียงต้นพืชกระท่อม ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ไม่ใช่ทรัพย์ที่จําเป็นจะต้องดูแลป้องกันถึงขนาดสร้างแนวรั้วไฟฟ้ามีแรงดันสูงขนาด 220 โวลต์ เช่นนี้ การกระทําดังกล่าวจึงเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจําเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจําต้องกระทําเพื่อป้องกันตาม ป.อ. มาตรา 69 จําเลยยังคงมีความผิดฐานทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 69 ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9794/2552 จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด 1 เส้น จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกายเนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ 14 ปีเศษกับ ต. อายุ 15 ปี เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้นเมื่อไม่ปราฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก ดังนี้ หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุจำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp