รถยนต์ชนกัน จะเป็นความผิดประมาทร่วมกันได้หรือไม่ ?

มีภาพข่าวออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีรถกระบะขับเปลี่ยนช่องการเดินรถตัดหน้ารถคันที่ขับมาในช่องทางเดินรถของตนเองเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกันและรถคันที่ตัดหน้าพลิกคว่ำนั้น ฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท หรืออีกนัยหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดนั้น

LAWRAI มีคำตอบมาให้เช่นเคยครับ 

จากภาพวีดีโอที่ออกมาตามข่าว ถนนที่เกิดเหตุมีช่องการเดินรถเป็นสามช่องการเดินรถโดยรถกระบะสีดำอยู่ทางช่องซ้ายสุด ส่วนรถคู่กรณีขับมาในช่องการเดินรถในช่องกลางตามปกติ  เมื่อมาถึงจุดที่เกิดเหตุรถกระบะสีดำเปลี่ยนช่องการเดินรถกะทันหันจากทางซ้ายสุดตัดหน้าเข้ามาในช่องการเดินรถในช่องทางเดินรถกลาง ซึ่งเป็นช่องทางเดินรถที่รถคู่กรณีขับมาตามปกติ เป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน จนรถกระบะสีดำเสียหลักพลิกคว่ำไปติดอยู่ตรงเกาะกลางถนน นั้น

กรณีนี้เห็นชัดเจนจากคลิปภาพวีดีโอว่าเป็นความประมาทของรถกระบะสีดำที่ขับเปลี่ยนช่องการเดินรถ  ส่วนรถคู่กรณีก็ขับมาตามปกติไม่ได้ประมาทแต่อย่างใด   และหากได้ข้อเท็จจริงว่ารถคู่กรณีที่ชนขับมาด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก็เป็นเรื่องความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบกที่ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็จะเป็นความผิดในส่วนนี้ซึ่งเป็นคนละส่วนกันไม่เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นคือการเฉี่ยวชนกันอันเป็นหลักเรื่องการกระทำและผล    จึงไม่ได้เป็นความประมาทร่วมกัน และประมาทร่วมกันก็มีไม่ได้  ไม่เหมือนความผิดที่ได้กระทำโดยเจตนาที่มีตัวการร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83

สรุป กรณีนี้  เป็นความประมาทของรถกระบะสีดำที่ขับตัดหน้าเปลี่ยนช่องการเดินรถอย่างกะทันหัน หรือถ้าหากได้ข้อเท็จจริงว่ารถคู่กรณีขับมาด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก็จะเป็นความผิดฐานขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก  แยกต่างหากจากกันซึ่งไม่เกี่ยวกับการชนในครั้งนี้เพราะผลจากการชนไม่ได้เกิดจากความประมาทของรถคู่กรณีแต่อย่างใด อันเป็นหลักกฎหมายในเรื่องการกระทำและผล  (ถึงจะขับรถเร็วอย่างไรหากกระบะสีดำไม่เลี้ยวตัดหน้าเข้ามาในช่องการเดินรถของคู่กรณีก็จะไม่เกิดการเฉี่ยวชนกันซึ่งก็คือผล)   และความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบกเป็นความผิดต่อรัฐ เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้อง

ท่านที่สนใจ ศึกษาเพิ่มเติมได้ตามกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2510 จำเลยที่ 1 เป็นนักเรียนหัดขับรถยนต์ยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่จำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตขับขี่แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นครูฝึกสอนขับรถยนต์ ได้นั่งควบคุมไปด้วย ถนนที่จำเลยหัดขับนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นถนนสำหรับฝึกหัดขับรถยนต์ ในวันเวลาเกิดเหตุถนนตอนนั้นมีผู้คนพลุกพล่านฝนตกถนนลื่น จำเลยที่ 1 ขับจะเฉี่ยว รถสามล้อเครื่องหรือหักหลบรถสามล้อเครื่องไม่พ้น จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งควบคุมไปด้วยต้องเข้าช่วยถือพวงมาลัยและให้จำเลยที่ 1 ปล่อยมือ จำเลยที่ 1 จึงปล่อยมือแต่เท้ายังเหยียบคันเร่งน้ำมันอยู่ จำเลยที่ 2 หักพวงมาลัยเบนขวาเพื่อให้พ้นสามล้อเครื่อง เป็นเหตุให้รถพุ่งข้ามถนนชนต้นไม้และคนถึงบาดเจ็บและตาย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วย

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8119/2559 แม้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2552 มาตรา 160ตรี วรรคสี่ บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษ…” อันแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำต่อผู้อื่นก็ตาม แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นความผิดที่รัฐมีหน้าที่ดำเนินการแก่ผู้กระทำความผิด รัฐเท่านั้นจึงเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าว ที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ แม้โจทก์ร่วมมีสิทธิอุทธรณ์ในความผิดตามป อ. มาตรา 291 ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามพรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2552 มาตรา 43(2),160ตรี วรรคสี่แล้ว และโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าวโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่คู่ความในความผิดตามพรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2552 มาตรา 43(2),160ตรี วรรคสี่จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนัก และไม่รอการลงโทษได้

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949/2542 ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตายและความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ พ.เจ้าของรถยนต์ไม่ใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตาย และข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย พ. เจ้าของรถยนต์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาและถือไม่ได้ว่า พนักงานอัยการฟ้องคดีแทน พ.แม้พ. จะเป็นโจทก์ ฟ้องคดีเองก็ไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองต้องใช้อายุความ 1 ปี เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์จาก พ.ได้ซ่อมรถยนต์ให้พ. ผู้เอาประกันภัยแล้วจึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่ พ. มีอยู่ในมูลหนี้ต่อ จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อสิทธิของ พ.ที่จะฟ้องคดีนี้มีกำหนดอายุความ 1 ปี โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิ ของ พ.จึงย่อมมีอายุความ 1 ปีเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองมีความหมายว่าในกรณีเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด และการกระทำละเมิดนั้นเป็นความผิดอาญาด้วยดังนั้น ผู้ที่ถูกกระทำละเมิดที่จะได้รับประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp